ความรู้เกี่ยวกับวันมาฆบูชา


วันมาฆบูชา

          วันมาฆบูชา (บาลี: มาฆปูชา; อักษรโรมัน: Magha Puja) เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย   “มาฆบูชา”  ย่อมาจาก  “มาฆปูรณมีบูชา”  หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ  ตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย  (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม)  ถ้าในปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4)
          เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีมาฆบูชาในประเทศพุทธเถรวาท จนมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)   พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรมีการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ  ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น   โดยการประกอบพระราชพิธีคงคล้ายกับวันวิสาขบูชา  คือมีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ  มีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  และพระอารามหลวงต่าง ๆ  เป็นต้น   โดยในช่วงแรกพิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป จนต่อมาความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร
          ปัจจุบันวันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย   โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์   พระสงฆ์  และประชาชน  จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ  เช่น  การตักบาตร  การฟังพระธรรมเทศนา  การเวียนเทียน  เป็นต้น    เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์   ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา   ได้แก่
                    1.  การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
                    2.  การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม
                    3.  การทำจิตของตนให้ผ่องใส
          เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวลนอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันมาฆบูชา ให้เป็น   “วันกตัญญูแห่งชาติ”      เนื่องจากปัจจุบันสังคมไทยวัยรุ่นสาว  มักจะเสียตัวในวัน     วาเลนไทน์   หลายหน่วยงานจึงพยายามรณรงค์ให้วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรัก (อันบริสุทธิ์)  แทน



เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันมาฆบูชาตามพุทธประวัติ


ความสำคัญ
          “วันมาฆบูชา”  เป็นวันที่ระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์แก่มหาสังฆสันนิบาตในมณฑลวัดเวฬุวันมหาวิหาร  ซึ่งในวันนั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการ   คือ
                    1.  พระสงฆ์ 1,250 รูปที่พระพุทธองค์ได้ส่งไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามแว่นแคว้นต่างๆ ได้กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย
                    2.  พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น ซึ่งเรียกว่า  “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
                    3.  พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์  คือผู้ได้อภิญญา 6 ข้อ    อภิญญา   แปลว่า “ความรู้ยิ่ง”  หมายถึง  ปัญญาความรู้ที่สูงเหนือกว่าปกติ  เป็นความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นจากการอบรมจิตเจริญปัญญาหรือบำเพ็ญกรรมฐาน     ได้แก่
                             1)  อิทธิวิธิ    หมายถึง  แสดงฤทธิ์ได้ เช่น ล่องหนได้ เหาะได้ ดำดินได้
                             2)  ทิพพโสต   หมายถึง  มีหูทิพย์
                             3)  เจโตปริยญาณ   หมายถึง  กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้
                             4)  ปุพเพนิวาสานุสติญาณ   หมายถึง   ระลึกชาติได้
                             5)  ทิพพจักขุ   หมายถึง   มีตาทิพย์
                             6)  อาสวักขยญาณ   หมายถึง   รู้การทำอาสวะให้สิ้นไป
                    4.  วันที่พระสงฆ์ทั้งหมดมาชุมนุมกันนี้ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)
          ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ 4 อย่าง  จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  “จาตุรงคสันนิบาต”   (มาจากศัพท์บาลี จตุ+องฺค+สนฺนิปาต  แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ)  โดยประชุมกัน ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช)



จาตุรงคสันนิบาต
          โดยพระอรหันต์ทั้งหลายนั้นต่างไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ อันเป็นที่ประทับ โดยมีคณะทั้ง 4 คือ
                    1.  คณะศิษย์ของชฎิล 3 พี่น้อง คือ คณะพระอุรุเวลกัสสปะ (มีศิษย์ 500 องค์)
                    2.  คณะพระนทีกัสสปะ (มีศิษย์ 300 องค์)
                    3.  คณะพระคยากัสสปะ (มีศิษย์ 200 องค์)
                    4.  คณะของพระอัครสาวก  คือ  คณะพระสารีบุตร  และพระมหาโมคคัลลานะ    (มีศิษย์ 250 องค์)
* (จำนวนนี้ไม่ได้นับรวมชฎิล 3 พี่น้อง  และพระอัครสาวกทั้งสอง)

          มีผู้เข้าใจผิดว่าสาเหตุที่พระสาวกทั้ง 1,250 รูปมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายนั้น เพราะวันเพ็ญเดือน 3 ตามคติพราหมณ์เป็นวันพิธีมหาศิวาราตรีเพื่อบูชาพระศิวะ พระสาวกเหล่านั้นซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนจึงได้เปลี่ยนจากการรวมตัวกันทำพิธีชำระบาปตามพิธีพราหมณ์ มารวมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน แต่ความดิดนี้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะพระศิวะเป็นเทพที่ชาวฮินดูเริ่มบูชากันในยุคหลังพุทธกาล คือตั้งแต่ พ.ศ. 800 เป็นต้นมา
         

โอวาทปาติโมกข์
          โอวาทปาติโมกข์ เป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็น  “ปาติโมกข์”  ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงตลอดปฐมโพธิกาล คือ 20 พรรษาแรก  เฉพาะครั้งแรกในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน 3)  หลังจากตรัสรู้แล้ว 9 เดือน  เป็นการแสดงปาติโมกข์ที่ประกอบด้วยองค์ 4 เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ซึ่งมีเพียงครั้งเดียวในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆ (อรรถกถาแสดงไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดง  “โอวาทปาติโมกข์”  นี้ ด้วยพระองค์เอง  ท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ตลอด 20 พรรษาแรก  หลังจากนั้นทรงบัญญัติให้พระสงฆ์แสดง “อาณาปาติโมกข์”  แทน)



คาถาโอวาทปาติโมกข์และคำแปล
คาถาต้นฉบับ
คำแปล
๏ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
 ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า นิพพานเป็นบรมธรรม
ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
๏ สพฺพปาปสฺส อกรณํ
กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ
เอตํ พุทฺธานสาสนํฯ
๏ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
การบำเพ็ญแต่ความดี
การทำจิตของตนให้ผ่องใส
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
๏ อนูปวาโท อนูปฆาโต
ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค
เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ
๏ การไม่กล่าวร้าย    การไม่ทำร้าย
ความสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
ที่นั่งนอนอันสงัด
ความเพียรในอธิจิต
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


ความหมายของโอวาทปาติโมกข์
          โอวาทปาติโมกข์มักถูกกล่าวถึงในแง่หลักธรรม 3 อย่างเดียวว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามพระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง   อาจสรุปใจความได้เป็นสามส่วน  คือ  หลักการ 3   อุดมการณ์ 4  และวิธีการ 6      ดังนี้

                    พระพุทธพจน์คาถาแรก
          ทรงกล่าวถึงอุดมการณ์อันสูงสุดของพระภิกษุและบรรพชิตในพระพุทธศาสนานี้ อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น  อันอาจเรียกได้ว่า   “อุดมการณ์ 4”    ของพระพุทธศาสนา  ได้แก่
               1.  ความอดทนอดกลั้นเป็นสิ่งที่นักบวชในศาสนานี้พึงยึดถือและเป็นสิ่งที่ต้องใช้เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจทุกอย่างที่ต้องเจอในชีวิตนักบวช  เช่น  ประสงค์ร้อนได้เย็น  ประสงค์เย็นได้ร้อน
               2.  การมุ่งให้ถึงพระนิพพานเป็นเป้าหมายหลักของผู้ออกบวช   มิใช่สิ่งอื่นนอกจาก  พระนิพพาน
               3.  พระภิกษุและบรรพชิตในพระธรรมวินัยนี้ (เช่นภิกษุณี สามเณร สามเณรี สิกขมานา)    ไม่พึงทำผู้อื่นให้ลำบากด้วยการเบียดเบียนทำความทุกข์กายหรือทุกข์ทางใจไม่ว่าจะในกรณีใดๆ
               4.  พึงเป็นผู้มีจิตใจสงบจากอกุศลวิตกทั้งหลายมีความโลภ  โกรธ  หลง    เป็นต้น

                   พระพุทธพจน์คาถาที่สอง
          ทรงกล่าวถึง   “หลักการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ”   หรือ  “หลักการ 3”   กล่าวกันเป็นเป็นการสรุปรวบยอดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอันเป็นแนวทางที่พุทธบริษัทพึงปฏิบัติ ได้แก่
               1.  การไม่ทำบาปทั้งปวง
               2.  การทำกุศลให้ถึงพร้อม
               3.  การทำจิตใจให้บริสุทธิ์
มีผู้อธิบายว่าทั้งสามข้อนี้อาจอนุมานเข้ากับ  ศีล  สมาธิ  และปัญญา

                   พระพุทธพจน์คาถาที่สาม
          หมายถึงวิธีการที่ธรรมทูตผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาถือเป็นกลยุทธ  พระภิกษุที่ออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ซึ่งมีเป็นจำนวนมากให้ใช้วิธีการเหมือนกันเพื่อจะได้เป็นไปในแนวทางเดียวกันและถูกต้องเป็นธรรม   ได้แก่   “วิธีการทั้ง 6
               1.  การไม่กล่าวร้าย  (เผยแผ่ศาสนาด้วยการไม่กล่าวร้ายโจมตีดูถูกความเชื่อผู้อื่น)
               2.  การไม่ทำร้าย (เผยแผ่ศาสนาด้วยการไม่ใช้กำลังบังคับข่มขู่ด้วยวิธีการต่างๆ)
               3.  ความสำรวมในปาติโมกข์ (รักษาความประพฤติให้น่าเลื่อมใส)
               4.  ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร (เสพปัจจัยสี่อย่างรู้ประมาณพอเพียง)
               5.  ที่นั่งนอนอันสงัด (สันโดษไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ)
               6.  ความเพียรในอธิจิต (พัฒนาจิตใจเสมอมิใช่ว่าเอาแต่สอนแต่ตนเองไม่กระทำตามที่สอน)



จุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา (ลานจาตุรงคสันนิบาต)
          ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตจะเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งที่เกิดในบริเวณวัดเวฬุวันมหาวิหาร แต่ทว่าไม่ปรากฏรายละเอียดในบันทึกของสมณทูตชาวจีนและในพระไตรปิฎกแต่อย่างใดว่าเหตุการณ์ใหญ่นี้เกิดขึ้น ณ จุดใดของวัดเวฬุวัน รวมทั้งจากการขุดค้นทางโบราณคดีก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการทำเครื่องหมาย (เสาหิน) หรือสถูประบุสถานที่ประชุมจาตุรงคสันนิบาตไว้แต่อย่างใด (ตามปกติแล้วบริเวณที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา มักจะพบสถูปโบราณหรือเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างหรือปักไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายสำคัญสำหรับผู้แสวงบุญ) ทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถทราบโดยแน่ชัดว่าเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตเกิดขึ้นในจุดใดของวัด



พระพุทธรูปยืนปางประทานพร   กลางลานจาตุรงคสันนิบาต



          ในปัจจุบันกองโบราณคดีอินเดียได้แต่เพียงสันนิษฐานว่า “เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในบริเวณลานด้านทิศตะวันตกของสระกลันทกนิวาป”  (โดยสันนิษฐานเอาจากเอกสารหลักฐานว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีพระสงฆ์ประชุมกันมากถึงสองพันกว่ารูป และเกิดในช่วงที่พระพุทธองค์พึ่งได้ทรงรับถวายอารามแห่งนี้ การประชุมครั้งนั้นคงยังต้องนั่งประชุมกันตามลานในป่าไผ่ เนื่องจากเสนาสนะหรือโรงธรรมสภาขนาดใหญ่ยังคงไม่ได้สร้างขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันลานด้านทิศตะวันตกของสระกลันทกนิวาป เป็นลานกว้างลานเดียวในบริเวณวัดที่ไม่มีโบราณสถานอื่นตั้งอยู่) โดยได้นำพระพุทธรูปยืนปางประทานพรไปประดิษฐานไว้บริเวณซุ้มเล็ก ๆ กลางลาน และเรียกว่า "ลานจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าลานจาตุรงคสันนิบาตที่แท้จริงอยู่ในจุดใด และยังคงมีชาวพุทธบางกลุ่มสร้างซุ้มพระพุทธรูปไว้ในบริเวณอื่นของวัดโดยเชื่อว่าจุดที่ตนสร้างนั้นเป็นลานจาตุรงคสันนิบาตที่แท้จริง แต่พุทธศาสนิกชนชาวไทยส่วนใหญ่ก็เชื่อตามข้อสันนิษฐานของกองโบราณคดีอินเดียดังกล่าว โดยนิยมนับถือกันว่าซุ้มพระพุทธรูปกลางลานนี้เป็นจุดสักการะของชาวไทยผู้มาแสวงบุญจุดสำคัญ 1 ใน 2 แห่งของเมืองราชคฤห์ (อีกจุดหนึ่งคือพระมูลคันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกูฏ)

จุดแสวงบุญและสภาพของวัดเวฬุวันในปัจจุบัน
          ปัจจุบันหลังถูกทอดทิ้งเป็นเวลากว่าพันปี และได้รับการบูรณะโดยกองโบราณคดีอินเดียในช่วงที่อินเดียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ วัดเวฬุวัน ยังคงมีเนินดินโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขุดค้นอีกมาก สถานที่สำคัญ ๆ ที่พุทธศาสนิกชนในปัจจุบันนิยมไปนมัสการคือ "พระมูลคันธกุฎี" ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ทำการขุดค้น เนื่องจากมีกุโบร์ของชาวมุสลิมสร้างทับไว้ข้างบนเนินดิน, "สระกลันทกนิวาป" ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้ทำการบูรณะใหม่อย่างสวยงาม, และ "ลานจาตุรงคสันนิบาต" อันเป็นลานเล็ก ๆ มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่กลางซุ้ม ลานนี้เป็นจุดสำคัญที่ชาวพุทธนิยมมาทำการเวียนเทียนสักการะ (ลานนี้เป็นลานที่กองโบราณคดีอินเดียสันนิษฐานว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในจุดนี้


กลุ่มป่าไผ่ร่มรื่น  ในกลุ่มโบราณสถานวัดเวฬุวันมหาวิหาร
สถานที่พระพุทธองค์  ทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์




สระโบกขรณีกลันทกนิวาป (สระน้ำ)   กลางวัดเวฬุวันมหาวิหาร


กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันมาฆบูชา
          วันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น
          โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันมาฆบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน)    โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันมาฆบูชาก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล)  ตามลำดับดังนี้
     1.  บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:    อรหัง สัมมา ฯลฯ)
     2.  บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ ๓ จบ)
     3.  บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:     อิติปิโส ฯลฯ)
     4.  บทสรรเสริญพระพุทธคุณ    สวดทำนองสรภัญญะ    (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:   องค์ใด      พระสัมพุทธ ฯลฯ)
     5.  บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:     สวากขาโต ฯลฯ)
     6.  บทสรรเสริญพระธรรมคุณ   สวดทำนองสรภัญญะ     (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:    ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)
     7.  บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:     สุปฏิปันโน ฯลฯ)
     8.  บทสรรเสริญพระสังฆคุณ    สวดทำนองสรภัญญะ     (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:   สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
     9.  บทสวดบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา
                    (ภาษาบาลี)      อัชชายัง มาฆะปุณณะมี สัมปัตตา มาฆะนักขัตเตนะ ปุณณะจันโท ยุตโต ยัตถะ ตะถาคะโต อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ จาตุรังคิเก สาวะกะสันนิปาเต
                    โอวาทะปาฏิโมกขัง อุททิสิ ตะทาหิ อัฑฒะเตระสานิ สัพเพสังเยวะ ขีณาสะวานัง สัพเพ เต เอหิภิกขุกา สัพเพปิ เต อะนามันติตาวะ ภะคะวะโต สันติกัง อาคะตา เวฬุวะเน กะลันทะกะนิวาเป           มาหะปุณณะมิยัง วัฑฒะมานะกัจฉายายะ ตัสมิญจะ สันนิปาเต ภะคะวาวิสุทธุโปสะถัง อะกาสิ อะยัง อัมหากัง ภะคะวะโต  เอโกเยวะ  สาวะกะสันนิปาโต  อะโหสิ  จาตุรังคิโก  อัพฒะเตระสานิ  ภิกขุสะตานิ  สัพเพสังเยวะ ขีณาสะวานัง  มะยันทานิ  อิมัง  มาฆะปุณณะมี  นักขัตตะสะมะยัง  ตักกาละสะทิสัง  สัมปัตตา                 จิระปะรินิพพุตัมปิ  ตัง ภะคะวันตัง  อะนุสสะระมานา  อิมัสมิง  ตัสสะ  ภะคะวะโต  สักขิภูเ ต เจติเย  อิเมหิ ทีปะธูปะปุปผาทิสักกาเรหิ  ตัง  ภะคะวันตัง  ตานิ  จะ  อัฑฒะเตระสานิ
                    ภิกขุสะตานิ  อะภิปูชะยามะ  สาธุ  โน  ภันเต  ภะคะวา  สะสาวะกะสังโฆ สุจิระปะรินิพพุโต คุเณหิ  ธะระมาโน  อิเม  ทีฆะรัตตัง  หิตายะ  สุขายะฯ 
                   (คำแปล)          วันนี้มาประจวบวันมาฆปุรณมี เพ็ญเดือน 3 พระจันทร์เพ็ญประกอบด้วยฤกษ์มาฆะ ตรงกับวันที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ขึ้น ในที่ประชุมสาวกสงฆ์พร้อมด้วยองค์ 4 ประการ
          ครั้งนั้น พระภิกษุ 1,250 องค์ ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ไม่มีผู้ใดเรียกมาประชุมยังสำนักพระผู้มีพระภาค ณ เวฬุวนาราม เวลาตะวันบ่ายในวันมาฆปุรณมีแลสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำวิสุทธิอุโบสถ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ขึ้น ณ ที่ประชุมแห่งนั้น การประชุมสาวกสงฆ์ พร้อมด้วยองค์ ๔ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแห่งเราทั้งหลายนี้ ได้มีครั้งเดียวเท่านั้น พระภิกษุ 1,250 องค์ล้วนแต่พระขีณาสพ
          บัดนี้เราทั้งหลายมาประจวบมาฆปุรณมีนักขัตต์สมัยนี้ ซึ่งคล้ายกับวันจาตุรงคสันนิบาตนั้นแล้ว มาระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุ 1,250  องค์นั้น ด้วยสักการะทั้งหลายมีเทียนธูปแลดอกไม้เป็นต้นเหล่านี้ ในเจดียสถานนี้ ซึ่งเป็นพยานของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น 
          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยสาวกสงฆ์ แม้ปรินิพพานนานมาแล้วด้วยดี ยังเหลืออยู่แต่พระคุณเจ้าทั้งหลาย จงทรงรับสักการะบรรณาการคนยากเหล่านี้ของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนาน เทอญ.

          จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ  พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบท    อิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ  ด้วยการสวด    สวากขาโต (รอบที่สอง)         และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวด  สุปะฏิปันโน (รอบที่สาม)     จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ     จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี



วันสำคัญอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับวันมาฆบูชา


วันคล้ายวันปลงพระชนมายุสังขาร
          นอกจากเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตในวันเพ็ญเดือน 3 ในพรรษาแรกของพระพุทธเจ้าแล้ว ในวันเพ็ญเดือน 3 แห่งพรรษาสุดท้ายของพระพุทธเจ้า (คราวที่ทรงพระชนมายุ 80 พรรษา) ก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ พระพุทธองค์ได้ทรง ปลงพระชนมายุสังขาร พระศาสดาเสด็จพักผ่อนกลางวัน ณ ปาวาลเจดีย์ ทรงแสดงนิมิตโอภาสแก่พระอานนท์ว่า ผู้ใดเจริญอิทธิบาท 4 ประการ อาจมีอายุยืนได้ถึงกัป แต่พระอานนท์มิได้ทูลอาราธนา เมื่อพระอานนท์ออกไป มารจึงได้มาอาราธนาให้นิพพาน พระองค์ทรงมีสติสัมปชัญญะ ปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ว่า อีก 3 เดือนจะเสด็จปรินนิพพาน เกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อพระอานนท์ทราบ จึงกราบทูลอาราธนาให้ทรงพระชนม์ชีพอยู่อีก แต่พระศาสดาตรัสว่า มิใช่กาล เพราะได้ทรงแสดงนิมิตแล้วถึง 16 ครั้ง ทรงทำนายว่าในวันเพ็ญเดือน 6 ที่จะมาถึง พระองค์จะเข้าสู่มหาปรินิพพาน จึงถือได้ว่าวันมาฆบูชาเป็น วันคล้ายวันสำคัญของพระพุทธศาสนาสองเหตุการณ์สำคัญ คือวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ และวันที่ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขาร

หมายเหตุ:  โดยทั่วไปจะทราบแต่เพียงว่าวันนี้เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เท่านั้น


ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี 
สถานที่ ๆ พระพุทธองค์ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขาร
ในวันเพ็ญเดือนสามแห่งพรรษาสุดท้ายของพระชนมชีพ



วันกตัญญูแห่งชาติ (ประเทศไทย)
          ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา (ที่อาจถือได้ว่าเป็นวันแห่งความรักของพระพุทธศาสนา) โดยถือว่าเหตุการณ์สำคัญที่เหล่าพระสาวกทั้ง 1,250 รูป ได้กลับมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยความรักในพระองค์หลังจากได้ออกไปเผยแพร่พระศาสนาโดยมิได้นัดหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีอันบริสุทธิ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาในปฏิทินจันทรคติในวันเพ็ญเดือนสาม มักจะตกใกล้กับช่วง"เทศกาลวาเลนไทน์" อันเป็นเทศกาลวันแห่งความรักของคริสต์ศาสนา ซึ่งวัยรุ่นไทยบางกลุ่มมักยึดถือคติค่านิยมวันแห่งความรักในวันวาเลนไทน์ผิด ๆ โดยนิยมยึดถือกันว่าเป็นวันแห่งความรักของคนหนุ่มสาว หรือแม้กระทั่งถือว่าเป็น  “วันเสียตัวแห่งชาติ”      ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่านิยมทางจริยธรรมและศีลธรรมของวัยรุ่นไทย   รัฐบาลไทยในสมัยนั้นจึงได้ประกาศให้วันมาฆบูชาเป็น   วันกตัญญูแห่งชาติ   “เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่เหมาะสมแก่วัยรุ่นไทย ให้หันมาสนใจกับความรักอันบริสุทธิ์ที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน”  แทนที่จะไปมัวเมากับความรักใคร่ชู้สาวหรือเรื่องฉาบฉวยทางเพศของหนุ่มสาว อันจะก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมตามมา
          การผลักดันให้มีวันกตัญญูแห่งชาติ มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 โดยเคยมีการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณากำหนดให้มีวันกตัญญูแห่งชาติ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างว่าในประเทศไทยมีวันสำคัญแห่งชาติที่เกี่ยวกับการแสดงความกตัญญูมากพอแล้ว   ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ได้มีการรวมตัวของนักพูดชื่อดังหลายท่าน เช่น ดร.ผาณิต กันตามระ นายสุรวงศ์ วัฒนกุล ดร.อภิชาติ ดำดี นายเฉลิมชัย จารุไพบูลย์ ดร.โอภาส กิจกำแหง และนายถาวร โชติชื่น เป็นต้น ซึ่งท่านเหล่านี้ได้ทำหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ให้ส่งเสริมให้วันมาฆบูชาเป็นวันกตัญญูแห่งชาติอีกวันหนึ่งด้วย โดยได้รับการตอบรับจากผู้เกี่ยวข้อง
          โดยวันกตัญญูแห่งชาตินี้ นอกจากจะมีขึ้นเพื่อเป็นการแสดงออกถึงวันแห่งความรักอันบริสุทธิ์ของชาวพุทธแล้ว ยังมีขึ้นเพื่อส่งเสริมค่านิยมให้คนไทยยึดถือความกตัญญู โดยอาจมีการพูดคุย ส่งการ์ดอวยพร มอบของขวัญหรือช่อดอกไม้แก่ผู้มีพระคุณของเรา เป็นการแสดงความระลึกถึงพระคุณด้วยความหวังดีของผู้ให้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ การแสดงออกซึ่งน้ำใจหรือคำพูดก็ตาม
          อีกอย่างหนึ่ง ในวันมาฆะบูชาเป็นวันที่พระสงฆ์มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอันเป็นดังบิดาผู้ให้กำเนิดทางธรรม จึงกำหนดให้วันนี้ชาวพุทธควรกลับไปหาพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดของตนเช่นกัน ด้วยการมอบปัจจัยสี่แก่ท่าน เพื่อกระตุ้นเตือนบุตรหลานว่าพ่อแม่มีปัจจัยสี่พอจะบริโภคหรือไม่  ซึ่งเรียกประเพณีนี้ว่าจัตวาปัจจัย    หรือ   “ประเพณีปัจจัยสี่”    คือ การหาปัจจัยสี่    ได้แก่
                   1.  เสื้อผ้าชุดใหม่
                   2.  หาอาหารที่ชอบ
                   3.  ไปจัดที่นอน  (เสนาสนะ)
                   4.  ยารักษาโรค
          ให้แก่พ่อแม่  และขอขมาลาโทษแก่ท่าน  เป็นประเพณีทำในตอนที่ท่านยังไม่ตาย คือไม่ใช่ซื้อเสื้อใหม่ให้ตอนแต่งศพ หาอาหารให้กินตอนเป็นไม่ใช่ตั้งหน้าโลง จัดที่นอนให้ไม่ใช่จัดตอนซื้อโลงให้ ล้างเท้าท่านไม่ทำตอนรดน้ำศพ ขอขมาตอนมีชีวิต ไม่ใช่ขอขมาหน้าโลง บอกรักตอนมีชีวิต มิใช่บอกรักหน้าโลง คือให้ทำแก่ท่านก่อนท่านตาย ทำแก่ท่านตั้งแต่ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ รูปแบบพิธีกรรมนี้จะล้างเท้าให้พ่อแม่ เชิญนั่งคู่กันบนที่นอนที่ลูกๆจัดไว้ให้ แล้วเอาอาหาร เสื้อผ้า พร้อมนวดเท้าให้ท่าน และให้กราบเท้าพ่อแม่ 3 ที อันหมายถึงพระคุณพ่อแม่ 3 อย่าง คือ
                   1. ปิยคุณ          บุณคุณที่ท่านให้ความรัก ให้ตั้งแต่ได้ยินว่าเราอยู่ในท้องตราบจนถึงวันที่    ท่านตายจาก
                   2.  อุปัตติคุณ     บุญคุณที่ท่านให้ชีวิตเลือดเนื้อรักษาครรภ์และได้คลอดให้กำเนิด
                   3.  อุปถัมภคุณ   บุญคุณที่ท่านเลี้ยงดูตั้งแต่ยังแบเบาะยังเอาตัวเองไม่รอด และให้น้ำนม ให้อาหาร ให้การศึกษา ให้การปกป้องกันอันตรายแก่เรา การหาปัจจัยสี่ให้แก่พ่อแม่เป็นการปฏิบัติตามคำพุทธพจน์ที่ตรัสในทิศ 6 ทิศพ่อแม่  ว่าหน้าที่ของลูกคือ   “ท่านเลี้ยงเรามา เราต้องเลี้ยงท่านตอบ”
          และประเพณีจัตวาปัจจัยนี้อีกอย่างหนึ่ง ท่านให้สามีมอบเสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งตัวอะไรก็ได้ แก่ภรรยาในวันมาฆะบูชานี้ เช่น เสื้อผ้า หรือตุ้มหู กระเป๋า และรองเท้า ดังพุทธพจน์เรื่องทิศ 6 ทิศคู่ครอง ว่าหน้าที่ของสามี  คือ  “ด้วยรู้จักให้เครื่องแต่งตัวแก่ภรรยา” (เพราะผู้หญิงรักสวยรักงาม)   ดังนั้นประเพณีนี้จะทำให้สถาบันครอบครัวที่อ่อนแอ่กลับมาเข้มแข็งขึ้น เพราะเป็นการย้ำเตือนลูกถึงหน้าที่ของลูก หน้าที่ของสามีต่อภรรยา และพ่อแม่ให้กลับมามีบทบาทต่อลูกหลาน เพราะทำให้ลูกหลานรวมญาติ ทำให้ผู้ใหญ่กลับมามีบทบาทต่อลูกหลานมากขึ้น เครือญาติจะเข้มแข็งเพราะจะรวมตัวกันได้บ่อยครั้ง ไม่ใช่มารวมกันทีเดียวคือวันเผาพ่อเผาแม่ แต่ในปัจจุบันประเพณีไม่สู้เป็นที่นิยมและรู้จักกันอย่างแต่ก่อน เนื่องด้วยมีวันพ่อวันแม่มาแทนที่และมักจะรวมตัวเครือญาติพี่น้องในช่วงสงกรานต์แทน ประเพณีจัตวาปัจจัยจึงเริ่มสูญหายไปจากสังคมไทย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น