ความรู้เกี่ยวกับวันเข้าพรรษา



วันเข้าพรรษา


วันเข้าพรรษา      บาลี:                วสฺส
                           สันสกฤต:         วรฺษ
                           อังกฤษ:            Vassa,
                           เขมร:        វស្សា,

                           พม่า:                ဝါဆို








  เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า  จำพรรษา  (“พรรษา”  แปลว่า  ฤดูฝน,  “จำ” แปลว่า พักอยู่)   พิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง  ละเว้นไม่ได้  ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม   การเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี  (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน)  และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา
  วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) หรือเทศกาลเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ถือได้ว่าเป็นวันและช่วงเทศกาลทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญเทศกาลหนึ่งในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาประมาณ 3 เดือนในช่วงฤดูฝน โดยวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไปได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย
  สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น มีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย
  ในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอดทั้ง 3 เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษจากวันสำคัญอื่น ๆ คือ มีการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ด้วย เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา โดยในอดีต ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบบวช (20 ปี)     จะนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง 3 เดือน โดยพุทธศาสนิกชนไทยจะเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า “บวชเอาพรรษา”


ความสำคัญ

      1.  ช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา ดังนั้นการกำหนดให้ภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ ก็จะช่วยให้พันธุ์พืชของต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อย ไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์
      2.  หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 - 9 เดือน ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน
      3.  เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอนให้กับประชาชนเมื่อถึง วันออกพรรษา
      4.  เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
      5.  เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา


มูลเหตุที่พระพุทธเจ้าอนุญาตการจำพรรษาแก่พระสงฆ์

  ในสมัยต้นพุทธกาล   พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงวางระเบียบเรื่องการเข้าพรรษาไว้ แต่การเข้าพรรษานั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์และพระสงฆ์สาวกปฏิบัติกันมาโดยปกติเนื่องด้วยพุทธจริยาวัตรในอันที่จะไม่ออกไปจาริกตามสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงฤดูฝนอยู่แล้ว เพราะการคมนาคมมีความลำบาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์ในช่วงต้นพุทธกาลมีจำนวนน้อยและส่วนใหญ่เป็นพระอริยะบุคคล จึงทราบดีว่าสิ่งใดที่พระสงฆ์ควรหรือไม่ควรกระทำ
  ต่อมาเมื่อมีพระสงฆ์มากขึ้น  และด้วยพระพุทธจริยาที่พระพุทธเจ้าจะไม่ทรงบัญญัติพระวินัยล่วงหน้า ทำให้พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้ทรงบัญญัติเรื่องให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษาไว้ด้วย  จึงเกิดเหตุการณ์กลุ่มพระสงฆ์ฉัพพัคคีย์พากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่าง ๆ โดยไม่ย่อท้อทั้งในฤดูหนาว  ฤดูร้อน และฤดูฝน  ทำให้ชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า  พวกพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝน   ในขณะที่นักบวชในศาสนาอื่น  พากันหยุดเดินทางในช่วงฤดูฝน   การที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน  อาจเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านได้รับความเสียหาย  หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย   เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง  จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง  เป็นเวลา 3 เดือนดังกล่าว


ประเภทของการเข้าพรรษาของพระสงฆ์

การเข้าพรรษาตามพระวินัยแบ่งได้เป็น  2  ประเภท  คือ
  ปุริมพรรษา   (เขียนอีกอย่างว่า บุริมพรรษา)  คือ  การเข้าพรรษาแรก  เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8  (สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง)  จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11  หลังจากออกพรรษาแล้ว  พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน  ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน  นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11  ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
  ปัจฉิมพรรษา คือ  การเข้าพรรษาหลัง   ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน  ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง  คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9   แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12   ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี  ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน   แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน


ข้อยกเว้นการจำพรรษาของพระสงฆ์

  แม้การเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุโดยตรง  ที่จะละเว้นไม่ได้  ไม่ว่ากรณีใด ๆ        ก็ตาม   แต่ว่าในการจำพรรษาของพระสงฆ์ในระหว่างพรรษานั้น   อาจมีกรณีจำเป็นบางอย่าง  ทำให้พระภิกษุผู้จำพรรษาต้องออกจากสถานที่จำพรรษาเพื่อไปค้างที่อื่น  พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษาโดยมีเหตุจำเป็นเฉพาะกรณี ๆ ไป  ตามที่ทรงระบุไว้ในพระไตรปิฎก  ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการพระศาสนาหรือการอุปัฏฐานบิดามารดา  แต่ทั้งนี้ก็จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน การออกนอกที่จำพรรษาล่วงวันเช่นนี้เรียกว่า   “สัตตาหกรณียะ”   ซึ่งเหตุที่ทรงระบุว่าจะออกจากที่จำพรรษาไปได้ชั่วคราวนั้น   คือ;
  1.  การไปรักษาพยาบาล หาอาหารให้ภิกษุหรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย  เป็นต้น  กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5 และมารดาบิดา
      2.  การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้  กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5
      3.  การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์  เช่น  การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด  หรือ  การไปทำ   สังฆกรรม  เช่น  สวดญัตติจตุตถกรรมวาจาให้พระผู้ต้องการอยู่ปริวาส  เป็นต้น
      4.  หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ  ก็ไปให้ทายกได้ให้ทาน รับศีล ฟังเทสนาธรรมได้ กรณีนี้หากโยมไม่มานิมนต์  ก็จะไปค้างไม่ได้
  ซึ่งหากพระสงฆ์ออกจากอาวาสแม้โดยสัตตาหกรณียะล่วงกำหนด 7 วันตามพระวินัย ก็ถือว่า ขาดพรรษา และเป็นอาบัติทุกกฎเพราะรับคำ (รับคำอธิษฐานเข้าพรรษาแต่ทำไม่ได้)
  ในกรณีที่พระสงฆ์สัตตาหกรณียะและกลับมาตามกำหนดแล้ว  ไม่ถือว่าเป็นอาบัติ   และสามารถกลับ มาจำพรรษาต่อเนื่องไปได้  และหากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องออกจากที่จำพรรษาไปได้ตามวินัยอีก ก็สามารถทำได้โดยสัตตาหกรณียะ แต่ต้องกลับมาภายในเจ็ดวัน เพื่อไม่ให้พรรษาขาดและไม่เป็นอาบัติทุกกฎดังกล่าวแล้ว


สัตตาหกรณียะ
พระไตรปิฎก เล่มที่ 4  พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4
มหาวรรค ภาค 1


ทรงอนุญาตสัตตาหกรณียะเพราะสหธรรมิก 5
  ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ.  เธอได้ส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า กระผมเองอาพาธ   ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา  กระผมปรารถนาการมาของภิกษุทั้งหลาย.  ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.  พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เมื่อสหธรรมิก 5   แม้มิได้ส่งทูตมา   เราอนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้จะต้องกล่าวไปไยเมื่อเขาส่งทูตมา   สหธรรมิก 5   คือ 1.ภิกษุ   2.ภิกษุณี   3.สิกขมานา   4.สามเณร   5.สามเณรี
  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เมื่อสหธรรมิก 5 นี้  แม้มิได้ส่งทูตมา  เราอนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้
จะต้องกล่าวไปไยเมื่อเขาส่งทูตมา   แต่ต้องกลับใน 7 วัน

สัตตาหกรณียะเนื่องด้วยภิกษุ
  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้อาพาธ ถ้าเธอจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า กระผมเองอาพาธ ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผมปรารถนาการมาของภิกษุ.  ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เมื่อเธอมิได้ส่งทูตมา  ก็พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ จะต้องกล่าวไปไย  เมื่อเธอส่งทูตมา  พึงไปด้วยตั้งใจว่า   จักแสวงหา  คิลานภัต   คิลานุปัฐากภัต   คิลานเภสัช   จักถามอาการ หรือจักพยาบาล แต่ต้องกลับใน 7 วัน
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ความกระสันบังเกิดแก่ภิกษุในศาสนานี้.  ถ้าเธอจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า  ความกระสันบังเกิดแก่กระผมแล้ว ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมากระผมปรารถนาการมาของภิกษุทั้งหลาย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เมื่อเธอมิได้ส่งทูตมา ก็พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ จะต้องกล่าวไปไยเมื่อเธอส่งทูตมา  พึงไปด้วยตั้งใจว่า จักระงับความกระสัน หรือจักวานภิกษุอื่นให้ช่วยระงับ หรือจักทำธรรมกถาแก่ภิกษุนั้น แต่ต้องกลับใน 7 วัน.
  ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ความรำคาญบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุในศาสนานี้.  ถ้าเธอจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า ความรำคาญบังเกิดแก่กระผม ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผมปรารถนาการมาของภิกษุทั้งหลาย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เมื่อเธอมิได้ส่งทูตมา ก็พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ จะต้องกล่าวไปไยเมื่อเธอส่งทูตมา  พึงไปด้วยตั้งใจว่า จักบรรเทาความรำคาญ หรือจักวานภิกษุอื่นให้ช่วยบรรเทา หรือจักทำธรรมกถาแก่ภิกษุนั้น แต่ต้องกลับใน 7 วัน.
  ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ความเห็นผิดบังเกิดแก่ภิกษุในศาสนานี้.  ถ้าเธอจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า ความเห็นผิดบังเกิดแก่กระผม ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผมปรารถนาการมาของภิกษุทั้งหลาย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เมื่อเธอมิได้ส่งทูตมา ก็พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ จะต้องกล่าวไปไยเมื่อเธอส่งทูตมา  พึงไปด้วยตั้งใจว่า จักเปลื้องความเห็นผิดจักวานภิกษุอื่นให้ช่วยเปลื้อง หรือจักทำธรรมกถาแก่ภิกษุนั้น แต่ต้องกลับใน 7 วัน.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในศาสนานี้เป็นผู้ต้องครุกาบัติควรอยู่ปริวาส.  ถ้าเธอพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า กระผมเองต้องคารุกาบัติควรอยู่ปริวาส  ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผมปรารถนาการมาของภิกษุทั้งหลาย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เมื่อเธอมิได้ส่งทูตมาก็พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ จะต้องกล่าวไปไยเมื่อเธอส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า จักทำการขวนขวายให้ปาริวาส จักช่วยสวดหรือจักเป็นคณะปูรกะ แต่ต้องกลับใน 7 วัน.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในศาสนานี้เป็นผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม.  ถ้าเธอจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า กระผมเองเป็นผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม  ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผมปรารถนาการมาของภิกษุทั้งหลาย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เมื่อเธอมิได้ส่งทูตมาก็พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ จะต้องกล่าวไปไยเมื่อเธอส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า จักทำการขวนขวายชักเข้าหาอาบัติเดิม จักช่วยสวด หรือจักเป็นคณะปูรกะ แต่ต้องกลับใน 7 วัน.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในศาสนานี้เป็นผู้ควรมานัต.  ถ้าเธอจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า กระผมเองเป็นผู้ควรมานัต  ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผมปรารถนาการมาของภิกษุทั้งหลาย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เมื่อเธอมิได้ส่งทูตมา ก็พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้จะต้องกล่าวไปไยเมื่อเธอส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า จักทำการขวนขวายให้มานัต จักช่วยสวดหรือจักเป็นคณะปูรกะ แต่ต้องกลับใน 7 วัน.
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในศาสนานี้เป็นผู้ควรอัพภาน.  ถ้าเธอจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า กระผมเองเป็นผู้ควรอัพภาน  ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผมปรารถนาการมาของภิกษุทั้งหลาย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เมื่อเธอมิได้ส่งทูตมา ก็พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้จะต้องกล่าวไปไยเมื่อเธอส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า จักทำการขวนขวายให้อัพภาน จักช่วยสวดหรือจักเป็นคณะปูรกะ แต่ต้องกลับใน     7 วัน.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง สงฆ์เป็นผู้ใคร่เพื่อทำกรรม  คือ  ตัชชนียกรรม  นิยสกรรม  ปัพพาชนียกรรม  ปฏิสารณียกรรม   หรือ  อุกเขปนียกรรม  แก่ภิกษุในศาสนานี้.  ถ้าเธอจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า สงฆ์เป็นผู้ใคร่เพื่อทำกรรมแก่กระผม ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผมปรารถนาการมาของภิกษุทั้งหลาย.  ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เมื่อเธอมิได้ส่งทูตมาก็พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ จะต้องกล่าวไปไยเมื่อเธอส่งทูตมา   พึงไปด้วยตั้งใจว่า ด้วยวิธีอย่างไรหนอ สงฆ์จึงจะไม่ทำกรรม หรือพึงน้อมไปเพื่อกรรมสถานเบา แต่ต้องกลับใน 7 วัน.
  อนึ่ง  ภิกษุนั้นได้ถูกสงฆ์ทำกรรม  คือ  ตัชชะนียกรรม  นิยสกรรม  ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม
หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว.  ถ้าเธอจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า สงฆ์ได้ทำกรรมแก่กระผมแล้ว  ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา  กระผมปรารถนาการมาของภิกษุทั้งหลาย. ดูกรภิกษุทั้งหลายแม้เมื่อเธอมิได้ส่งทูตมา ก็พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้  จะต้องกล่าวไปไยเมื่อเธอส่งทูตมาพึงไปด้วยตั้งใจว่า  ด้วยวิธีอย่างไรหนอ ภิกษุนั้นพึงประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง ประพฤติแก้ตัวได้สงฆ์จะได้ระงับกรรมนั้นเสีย แต่ต้องกลับใน 7 วัน.



พิธีกรรมของสงฆ์ ก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา

  พระท่านจะทำการซ่อมแซมเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมให้อยู่ในสภาพที่ดีที่ใช้อยู่อาศัยได้ จัดการปัดกวาดหยากไย่  เช็ดถูให้สะอาด  สาเหตุที่ต้องกระทำเสนาสนะให้มั่นคงและสะอาด   ก็เพื่อจะได้ใช้บำเพ็ญ  สมณกิจในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาได้เต็มที่  ไม่ต้องกลัวฝนจะรั่วรดอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้วจึงกระทำพิธีเข้าพรรษา  โดยกล่าวอธิษฐานตั้งใจเพื่ออยู่จำพรรษา  ตลอดฤดูฝนในวันของท่านที่ตั้งใจจะอยู่
  คำกล่าวอธิษฐานพรรษาเป็นภาษาบาลีว่า   “ อิมัสะมิง  อาวาเส  อิมัง  เตมาสัง  วัสสัง  อุเปมิ”   แปลว่า “ข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาในวัดนี้ ตลอด ๓ เดือน”  โดยกล่าวเป็นภาษาบาลี ๓ ครั้ง
  ต่อจากนั้นพระผู้น้อยก็กระทำสามีกิจกรรม คือ กล่าวขอขมาพระเถระผู้ใหญ่หรือเจ้าอาวาสแห่งนั้น โดยกล่าวเป็นภาษาบาลี  ว่า  

(ผู้ขอขมาหลายคน) “มหาเถเร   ปะมาเทนะ  ทวารัตตะเยนะ  กะตัง  สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะตุ        
                   โน  ภันเต”
(พระมหาเถระผู้รับ)            “อะหัง   ขะมามิ   ตุมเหหิปิ  เม  ขะมิตัพพัง”
(ผู้ขอขมาหลายคน)  “ขะมามะ  ภันเต”
(กล่าว 3 ครั้ง)


ประเพณีเนื่องด้วยการเข้าพรรษาในประเทศไทย

  ในประเทศไทยมีประเพณีมากมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าจำพรรษาของพระสงฆ์ไทยมาช้านาน ดังปรากฏประเพณีมากมายที่เกี่ยวกับการเข้าจำพรรษา   เช่น  ประเพณีถวายเทียนพรรษา  แก่พระสงฆ์เพื่อจุดบูชาตามอารามและเพื่อถวายให้พระสงฆ์สามเณรนำไปจุดเพื่ออ่านคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในระหว่างเข้าจำพรรษา   ประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝน หรือผ้าวัสสิกสาฏก  แก่พระสงฆ์ก่อนเข้าพรรษา  เพื่อให้พระสงฆ์นำไปใช้สรงน้ำฝนในพรรษา  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่พุทธศาสนิกชนไทยถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีคือ ประเพณีถวายผ้ากฐิน ที่จัดหลังพระสงฆ์ปวารณาออกพรรษา เพื่อถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์ที่จำครบพรรษาจะได้กรานและได้รับอานิสงส์กฐิน  เป็นต้น

ประเพณีถวายเทียนพรรษา
มีประเพณีหนึ่งที่เนื่องด้วยวันเข้าพรรษาและจัดเป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันเรื่อยมา ก็คือ ประเพณีหล่อเทียนพรรษา สำหรับให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ซึ่งเทียนพรรษาสามารถอยู่ได้ตลอด 3 เดือน และเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นงานประเพณี "ประกวดเทียนพรรษา" ของแต่ละจังหวัดโดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ
  การถวายเทียนเพื่อจุดตามประทีปเป็นพุทธบูชานั้น มาจากอานิสงส์การถวายเทียนเพื่อจุดเป็นพุทธบูชา ที่ปรากฏความในพระไตรปิฎก   และในคัมภีร์อรรถกถา ว่า   พระอนุรุทธะเถระ  เคยถวายเทียนบูชาทำให้ได้รับอานิสงส์มากมาย  รวมถึงได้เป็นผู้มีจักษุทิพย์ (ตาทิพย์) ด้วย     ด้วยการพรรณาอานิสงส์ดังกล่าว  อาจทำให้ชาวพุทธนิยมจุดประทีปเป็นพุทธบูชามานานแล้ว  แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าการทำเทียนพรรษาในประเทศไทยถวายเริ่มมีมาแต่สมัยใด  แต่ปรากฏความในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์  ที่พรรณาการบำเพ็ญกุศลในช่วงเข้าพรรษาว่ามีการถวายเทียนพรรษาด้วย
  ในประเทศไทย การถวายเทียนเข้าพรรษาจัดเป็นพิธีใหญ่มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  ในสมัยรัตนโกสินทร์การถวายเทียนเข้าพรรษาถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญ  โดยจะเรียกว่าพุ่มเทียน   มีการพระราชทานถวายพุ่มเทียนรวมพึงโคมเพื่อจุดบูชาตามอารามต่าง ๆ ทั้งในพระนครและหัวเมือง  ซึ่งพิธีนี้ยังคงมีมาจนปัจจุบัน
  ในอดีต  การหล่อเทียนเข้าพรรษาถือเป็นพิธีสำคัญที่ชาวพุทธจะมารวมตัวกันนำขี้ผึ้งมาหลอมรวมเป็นแท่งเทียนเพื่อถวายแก่พระสงฆ์ แต่ในปัจจุบันชาวพุทธส่วนใหญ่จะนิยมการซื้อหาเทียนพรรษาจากร้านสังฆภัณฑ์  โดยบางส่วนมีการปรับเปลี่ยนไปซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างถวายแก่พระสงฆ์แทนด้วย ซึ่งนับเป็นการปรับเปลี่ยนที่ได้ประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยตรง เพราะปัจจุบันไม่ได้มีการนำเทียนมาจุดเพื่ออ่านหนังสืออีกแล้ว  พระสงฆ์คงนำเทียนไปจุดบูชาตามอุโบสถวิหารเท่านั้น

ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน (ก่อนเข้าพรรษา)
  ผ้าอาบน้ำฝน หรือ ผ้าวัสสิกสาฏก คือผ้าเปลี่ยนสำหรับสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ เป็นผ้าลักษณะเดียวกับผ้าสบง  โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง  อัฏฐบริขาร(บริขาร8)  ซึ่งได้แก่  1.สบง   2.จีวร   3.สังฆาฏิ   4.เข็ม   5.บาตร   6.รัดประคด   7.ที่กรองน้ำ   8.มีดโกน    แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น    พระสงฆ์ที่มีเพียงสบงผืนเดียวจะอาบน้ำฝนจำเป็นต้องเปลือยกาย   ทำให้ดูไม่งามและเหมือนนักบวชนอกศาสนา   นางวิสาขามหาอุบาสิกาจึงคิดถวาย    “ผ้าวัสสิกสาฏก”   หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า  ผ้าอาบน้ำฝน  เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยนกับผ้าสบงปกติ จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยปรากฏสาเหตุความเป็นมาของการถวายผ้าอาบน้ำฝนในพระไตรปิฎกดังนี้
  ครั้งหนึ่งสมัยพุทธกาล พระศาสดาประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร  นางวิสาขาได้มาฟังธรรม แล้วทูลอาราธนาพระศาสดาและหมู่สงฆ์ไปฉันที่บ้านของนางในวันรุ่งขึ้น เช้าวันนั้น เกิดฝนตกครั้งใหญ่ ตกในทวีปทั้ง 4 พระศาสดาจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายสรงสนานกาย พระสงฆ์ทั้งหลายที่ไม่มีผ้าอาบน้ำฝนจึงออกมาสรงน้ำฝนโดยร่างเปลือยกายอยู่     พอดีกับนางวิสาขามหาอุบสิกาสั่งให้นางทาสีไปนิมนต์ภิกษุมารับภัตตาหารที่บ้านของตน  เมื่อนางทาสีไปถึงที่วัดเห็นภิกษุเปลื้องผ้าสรงสนานกาย ก็เข้าใจว่า  ในอารามมีแต่พวกชีเปลือย (อาชีวกนอกพระพุทธศาสนา)   ไม่มีภิกษุอยู่จึงกลับบ้าน  ส่วนนางวิสาขานั้นเป็นสตรีที่ฉลาดรู้แจ้งในเหตุการณ์ทั้งปวง  เมื่อถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในวันนั้นแล้ว   จึงได้โอกาสอันควรทูลขอพร 8 ประการต่อพระศาสดา

  พระศาสดาทรงอนุญาตพร 8 ประการ  คือ;
      1.  ขอถวายผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าอาบน้ำ) แก่พระสงฆ์เพื่อปกปิดความเปลือยกาย
      2.  ขอถวายภัตแต่พระอาคันตุกะ เนื่องจากพระอาคันตุกะไม่ชำนาญหนทาง
      3.  ขอถวายคมิกภัตแก่พระผู้เตรียมตัวเดินทาง เพื่อจะได้ไม่พลัดจากหมู่เกวียน
      4.  ขอถวายคิลานภัตแก่พระอาพาธ เพื่อไม่ให้อาการอาพาธกำเริบ
      5.  ขอถวายภัตแก่พระผู้พยาบาลพระอาพาธ เพื่อให้ท่านนำคิลานภัตไปถวายพระอาพาธได้ตามเวลา  และพระผู้พยาบาลจะได้ไม่อดอาหาร
      6.  ขอถวายคิลานเภสัชแก่พระอาพาธ เพื่อให้อาการอาพาธทุเลาลง
      7.  ขอถวายยาคูเป็นประจำแก่สงฆ์
      8.  ขอถวายผ้าอุทกสาฎก (ผ้าอาบน้ำ)   แก่ภิกษุณีสงฆ์    เพื่อปกปิดความไม่งามและไม่ให้ถูกเย้ยยัน

  โดยนางวิสาขาได้ให้เหตุผลการถวายผ้าอาบน้ำฝนว่า  เพื่อให้ใช้ปกปิดความเปลือยกายในเวลาสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ที่ดูไม่งามดังกล่าว  ดังนั้น  นางวิสาขาจึงเป็นอุบาสิกาคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้ถวายผ้าอาบน้ำฝน (วัสสิกสาฏก)  แก่พระสงฆ์
  ผ้าอาบน้ำฝน จึงถือเป็นบริขารพิเศษที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระสงฆ์ได้ใช้   ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัยปิฎก   มิเช่นนั้นพระสงฆ์จะต้องอาบัตินิคสัคคิยปาจิตตีย์  คือ  ต้องทำผ้ากว้างยาวให้ถูกขนาดตามพระวินัย  คือ ยาว 6 คืบพระสุคต  กว้าง 2 คืบครึ่ง  ตามมาตราปัจจุบันคือ ยาว 4 ศอก 3 กระเบียด กว้าง 1 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว 1 กระเบียดเศษ   ถ้าหากมีขนาดใหญ่กว่านี้   พระสงฆ์ต้องตัดให้ได้ขนาด   จึงจะปลงอาบัติได้
  นอกจากนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงวางกรอบเวลาในการแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนไว้ด้วย   หากพระสงฆ์แสวงหาผ้าอาบน้ำฝนมาได้ภายนอกกำหนดเวลาดังกล่าว  จะต้องอาบัติ  โดยพระพุทธเจ้ายังได้ทรงวางกรอบเวลาในการแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนไว้ว่า   หากพระสงฆ์แสวงหาผ้าอาบน้ำฝนมาใช้ได้ภายนอกกำหนดเวลาดังกล่าว   จะต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์  กล่าวคือ  ทรงวางกรอบเวลาหรือเขตกาลไว้ 3 เขตกาล   คือ
  1.  เขตกาลที่จะแสวงหา  ช่วงปลายฤดูร้อน  ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 7 ถึงวันเพ็ญเดือน 8    รวมเวลา 1 เดือน
      2.  เขตกาลที่จะทำนุ่งห่ม  ช่วงกึ่งเดือนปลายฤดูร้อน   ตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันเพ็ญเดือน 8      รวมเวลาประมาณ 15 วัน
      3.  เขตกาลที่จะอธิษฐานใช้สอย   ช่วงเข้าพรรษา  ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 8   ถึงวันเพ็ญเดือน 12     รวมเวลา 4 เดือน
  ด้วยกรอบพระพุทธานุญาตและกรอบเวลาตามพระวินัยดังกล่าว  เมื่อถึงเวลาที่พระสงฆ์ต้องแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน  พุทธศานิกชนจึงถือโอกาสบำเพ็ญกุศลด้วยการจัดหาผ้าอาบน้ำฝนมาถวายแก่พระสงฆ์ จนเป็นประเพณีสำคัญเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษามาจนปัจจุบัน

ประเพณีถวายผ้าอัจเจกจีวร (ระหว่างเข้าพรรษา)
  ผ้าอัจเจกจีวร แปลว่า จีวรรีบร้อน หรือผ้าด่วน   คือผ้าจำนำพรรษาที่ถวายล่วงหน้าในช่วงเข้าพรรษา ก่อนกำหนดจีวรกาลปกติ ด้วยเหตุรีบร้อนของผู้ถวาย   เช่น  ผู้ถวายเจ็บไข้ไม่ไว้ใจว่าจะมีชีวิตรอดหรือไม่  หรือเป็นบุคคลที่พึ่งเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา  ควรรับไว้ฉลองศรัทธา
  อัจเจกจีวรเช่นนี้  พระวินัยอนุญาตให้พระสงฆ์รับเก็บไว้ได้  แต่ต้องรับก่อนวันปวารณาไม่เกิน 10 วัน (คือตั้งแต่ขึ้น 6 ค่ำ ถึง 15 ค่ำเดือน 11)   และต้องนำมาใช้ภายในช่วงจีวรกาล
  ผ้าอัจเจกจีวรนี้  เป็นผ้าที่มีความมุ่งหมายเดียวกับผ้าจำนำพรรษา  เพียงแต่ถวายก่อนฤดูจีวรกาลด้วยวัตถุประสงค์รีบด่วนด้วยความไม่แน่ใจในชีวิต  ซึ่งประเพณีนี้คงมีสืบมาแต่สมัยพุทธกาล   ปัจจุบันไม่ปรากฏเป็นพิธีใหญ่   เพราะเป็นการถวายด้วยสาเหตุส่วนตัวเฉพาะรายไป  ส่วนมากจะมีเจ้าภาพผู้ถวายเพียงคนเดียวและเป็นคนป่วยหนักที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า


ประเพณีถวายผ้าจำนำพรรษา (หลังออกพรรษา)
  ผ้าจำนำพรรษา หรือ ผ้าวัสสาวาสิกสาฎก   เป็นผ้าไตรจีวรที่ถวายแก่พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน   ที่ผ่านวันปวารณาไปแล้ว  หรือที่ผ่านวันปวารณาและได้กรานและอนุโมทนากฐินแล้ว   ซึ่งผ้าจำนำพรรษานี้พระสงฆ์สามารถรับได้ภายในกำหนด 5 เดือน  ที่เป็นเขตอานิสงส์กฐิน คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
  แต่สำหรับพระสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือน และผ่านวันปวารณาไปแล้ว ซึ่งไม่ได้กรานและอนุโมทนากฐิน   ก็สามารถรับและใช้ผ้าจำนำพรรษาได้เช่นกัน  แต่สามารถรับได้ในช่วงกำหนดเพียง 1 เดือน  ในเขต  จีวรกาล   สำหรับผู้ไม่ได้กรานกฐินเท่านั้น
  การถวายผ้าจำนำพรรษาในช่วงดังกล่าว เพื่ออนุเคราะห์แก่พระสงฆ์ที่ต้องการจีวรมาเปลี่ยนของเก่าที่ชำรุด     พุทธศาสนิกชนจึงนิยมถวายผ้าจำนำพรรษามาตั้งแต่สมัยพุทธกาล   ในประเทศไทยก็ปรากฏว่ามี  พระราชประเพณีการถวายผ้าจำนำพรรษาแก่พระสงฆ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ตามความที่ปรากฏในหนังสือพระราชนิพนธ์พระราชพิธี 12 เดือน   ซึ่งปัจจุบันแม้ทางราชสำนักได้งดประเพณีนี้ไปแล้ว    แต่ประเพณีนี้ก็ยังคงมีอยู่สำหรับชาวบ้านทั่วไป โดยนิยมถวายเป็นผ้าไตรแก่พระสงฆ์หลังพิธีงานกฐิน   แต่เป็นที่สังเกตว่าปัจจุบันจะเข้าใจผิดว่าผ้าจำนำพรรษาคือผ้าอาบน้ำฝน    ซึ่งความจริงแล้วมีความเป็นมาและพระวินัยที่แตกต่างกันสิ้นเชิง


การประกอบพิธีทางศาสนาในช่วงพรรษากาลในประเทศไทย

  แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญ รักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส โดยการจัดเตรียมสิ่งของเพื่อนำไปถวายแก่พระสงฆ์ที่จะจำพรรษา   การตั้งใจรักษาศีล 5 หรือศีล 8   และตั้งใจบำเพ็ญความดี เข้าวัดฟังธรรมตลอดพรรษากาล ซึ่งไม่เฉพาะแต่ชาวบ้านทั่วไปเท่านั้น   สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ให้ความสำคัญกับการเข้าพรรษาของพระสงฆ์เป็นอย่างมากเช่นกัน

พระราชพิธี
การพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันเข้าพรรษานี้มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษา    ซึ่งเดิมก่อน พ.ศ. 2501 เรียกเพียง การพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันเข้าพรรษา   แต่หลังจากที่ทางคณะสงฆ์มีการกำหนดให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง (ก่อนหน้าวันเข้าพรรษา 1 วัน)      ในปี พ.ศ. 2501 แล้ว  สำนักพระราชวังจึงได้กำหนดเพิ่มการบำเพ็ญพระราชกุศลในวันอาสฬหบูชาเพิ่มเติมขึ้นมาด้วยอีกวันหนึ่ง    รวมเป็นสองวัน
  การพระราชพิธีนี้โดยปกติมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นองค์ประธานในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศ   และบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทน   โดยสถานที่ประกอบพระราชพิธีหลักจะจัดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  วัดบวรนิเวศวิหาร  และภายในพระบรมมหาราชวัง     การสำคัญของพระราชพิธีคือการถวายพุ่มเทียนเครื่องบูชาแก่พระพุทธปฏิมาและพระราชาคณะ   รวมทั้งการพระราชทานภัตตาหารแก่พระราชาคณะ  ฐานานุกรม  เปรียญ  ซึ่งรับอาราธนามารับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง   ในวันเข้าพรรษาทุกปี   เป็นต้น    ซึ่งการพระราชพิธีนี้เป็นการแสดงออกถึงพระราชศรัทธา  อันแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา   ขององค์พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภกมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

พิธีสามัญ
  เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตร  ถวายเทียนพรรษา  ถวายผ้าอาบน้ำฝน โดยมักจะจัดเครื่องสักการะ  เช่น  ดอกไม้  ธูปเทียน    เครื่องใช้   เช่น  สบู่ ยาสีฟัน  เป็นต้น     มาถวายพระภิกษุ สามเณร   หรือมีการช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ  ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ    โดยนิยมไปร่วมทำบุญตักบาตร  ฟังเทศน์  ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด   บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ   เช่น งดเสพสุรา  งดฆ่าสัตว์  เป็นต้น   ซึ่งพอสรุปกิจที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในพรรษากาลได้ดังนี้
  1.  ร่วมกิจกรรมทำเทียนพรรษาหรือหลอดไฟถวายแก่พระสงฆ์
      2.  ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่ภิกษุสามเณร
      3.  ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล ตลอดพรรษากาล
      4.  อธิษฐานตั้งใจทำความดี หรืองดการทำชั่วอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น งดเว้นอบายมุขต่าง ๆ


ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียกเทียนพรรษา,  ผ้าจำนำพรรษา   และผ้าอาบน้ำฝน

  ในปัจจุบันปรากฏว่ามีการเรียกสิ่งของที่ถวายทานเนื่องด้วยการเข้าพรรษา โดยใช้คำเรียกที่ผิดอย่างกว้างขวาง    เช่น เรียกเทียนที่ถวายแก่พระสงฆ์ว่า  เทียนจำพรรษา   หรือเทียนจำนำพรรษา   หรือเรียกผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าสบง)  ที่ถวายแก่พระสงฆ์ว่าเป็นผ้าจำนำพรรษา    ซึ่งทั้งสองคำข้างต้นเป็นคำเรียกที่ผิด       โดยสาเหตุอาจมาจากการเรียกสับสนกับผ้าจำนำพรรษา  ที่ปรากฏความในพระวินัยปิฎก มหาวรรค   ซึ่งผ้าจำนำพรรษานั้นเป็นผ้าจีวรที่ปกติจะถวายแก่พระสงฆ์ที่อยู่จำครบพรรษาและออกพรรษาแล้ว   โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับผ้าอาบน้ำฝนและเทียนพรรษาแต่ประการใด
  อย่างไรก็ดี คำว่าจำนำนั้น  สามารถหมายถึง  ประจำ  หรือก็คือสิ่งของที่ถวายเป็นประจำเฉพาะการเข้าพรรษา  ซึ่งก็คือ  ผ้าอาบน้ำฝนและเทียนพรรษา  ก็ได้เช่นกัน   แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม   การใช้คำเรียกผ้าจำนำพรรษาโดยหมายถึงผ้าอาบน้ำฝนนั้น   อาจสร้างความสับสนกับผ้าจำนำพรรษาตามพระวินัยปิฎกได้    ซึ่งควรเรียกให้ถูกต้องว่า   ผ้าอาบน้ำฝน (วัสสิกสาฎก),    ผ้าจำนำพรรษา (วัสสาวาสิกสาฏก)   และเทียนพรรษา     ตามลำดับ


อานิสงส์การจำพรรษาของพระสงฆ์ที่จำครบพรรษา

  เมื่อพระสงฆ์จำพรรษาครบไตรมาสได้ปวารณาออกพรรษาและได้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์ หรือข้อยกเว้นพระวินัย 5 ข้อ   คือ
  1.  เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา  (ออกจากวัดไปโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์รูปอื่นก่อนได้)
      2.  เที่ยวไปไม่ต้องถือไตรจีวรครบ 3 ผืน (จีวร  สบง  สังฆาฏิ)
      3.  ฉันคณะโภชน์ได้  (ล้อมวงฉันได้)
      4.  เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา  (ยกเว้นสิกขาบทข้อนิสสัคคิยปาจิตตีย์บางข้อ)
      5.  จีวรลาภอันเกิดในที่นั้นเป็นของภิกษุ  (เมื่อมีผู้มาถวายจีวรเกินกว่าไตรครองสามารถเก็บไว้ได้โดยไม่ต้องสละเข้ากองกลาง)



หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ

เทศกาลเข้าพรรษานี้ ถือกันว่าเป็นเทศกาลพิเศษ  พุทธศาสนิกชนจึง  ขะมักเขม้นในการบุญกุศลยิ่งกว่าธรรมดาบางคนตั้งใจรักษาอุโบสถตลอด ๓ เดือน  บางคนตั้งใจฟังเทศน์ทุกวันพระตลอดพรรษา  มีผู้ตั้งใจทำความดีต่าง ๆ พิเศษขึ้น  ทั้งมีผู้งดเว้นการกระทำบาปกรรมในเทศกาลเข้าพรรษา และคนอาศัยสาเหตุแห่งเทศกาลเข้าพรรษาตั้งสัตย์ปฏิญาณเลิกละอายมุกและความชั่วสามานย์ต่าง ๆ โดยตลอดไป จึงนับเป็นบุคคลที่ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญและได้รับสิ่งอันเป็นมงคล
  ระหว่างเทศกาลเข้าพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนนิยมไปวัด ถวาย ทาน รักษาศีล ฟังธรรมและเจริญจิตภาวนา ซึ่งเป็นการเว้นจากการกระทำความชั่วบำเพ็ญความดีและชำระจิตให้สะอาดแจ่มใสเคร่งครัดยิ่งขึ้น หลักธรรมสำคัญที่สนับสนุน คุณความดีดังกล่าวก็คือ  “วิรัติ”  คำว่า  “วิรัติ”   หมายถึงการงดเว้นจากบาป และความชั่วต่าง ๆ จัดเป็นมงคลธรรมข้อหนึ่ง เป็นเหตุนำบุคคลผู้ปฏิบัติตามไปสู่ความสงบสุขปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปวิรัติ การงดเว้นจากบาปนั้น   จำแนกออกได้เป็น 3 ประการ  คือ
  1. สัมปัตตวิรัติ   ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยเกิดความรู้สึกละอาย (หิริ) และเกิดความรู้สึกเกรงกลัวบาป (โอตตัปปะ)   ขึ้นมาเอง  เช่น บุคคลที่ได้สมาทานศีลไว้ เมื่อถูกเพื่อนคะยั้นคะยอให้ดื่มสุรา ก็ไม่ย่อมดื่มเพราะละอาย และเกรงกลัวต่อบาปว่าไม่ควรที่ชาวพุทธจะกระทำเช่นนั้นในระหว่างพรรษา
  2. สมาทานวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยการสมาทานศีล 5 หรือศีล 8  จากพระสงฆ์โดยเพียรระมัดระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย  แม้มีสิ่งยั่วยวนภายนอกมาเร้าก็ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง
  3. สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ได้อย่างเด็ดขาดโดยตรงเป็นคุณธรรมของพระอริยะเจ้า   ถึงกระนั้นสมุจเฉทวิรัติ   อาจนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลผู้งดเว้นบาปความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ในระหว่างพรรษากาลแล้ว แม้ออกพรรษาแล้วก็มิกลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก เช่นกรณีผู้งดเว้นจากการดื่มสุราและสิ่งเสพติดระหว่างพรรษากาล แล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป  เป็นต้น














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น