ความรู้เกี่ยวกับวันวิสาขบูชา



                  วันวิสาขบูชา  หรือ  วันเพ็ญเดือน 6      นับเป็นวันที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 
เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนามากถึง 3 เหตุการณ์ คือ เป็นวันคล้ายวันประสูติ,    ตรัสรู้    และ ปรินิพพาน    ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า   "วันพระพุทธเจ้า"

        วิสาขบูชา มีการนับถือปฏิบัติกันในหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาททุกนิกายมาช้านานแล้ว ในบางประเทศเรียกพิธีนี้ว่า "พุทธชยันตี" (Buddha Jayanti) เช่นใน อินเดีย และศรีลังกา ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมากที่สุด) ในฝ่ายของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับคติการปฏิบัติบูชาในวันวิสาขบูชามาจากลังกา (ประเทศศรีลังกา) ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดพิธีวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

        วันวิสาขบูชานั้นได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ 80 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบันวันวิสาขบูชา (บาลี: วิสาขปูชา; อังกฤษ: Vesak) เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนาสำหรับชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก ทั้งเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ และวันสำคัญในระดับนานาชาติตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธโคดม โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่า เป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย และมักตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติของไทย โดยในประเทศไทย ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 แต่ประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท และไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม  ส่วนในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกายที่นับถือว่า เหตุการณ์ทั้ง 3 นั้นเกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ซึ่งไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท
วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะชาวพุทธทุกนิกายจะพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก (ซึ่งไม่เหมือนวันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมนับถือกันเฉพาะในประเทศไทย, ลาว, และกัมพูชา) และด้วยเหตุนี้ ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากล" (International Day) ตามข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 54/112 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542

           ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันคล้ายวันที่ "ประสูติ" ของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ "ตรัสรู้" เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงกอปรไปด้วย "พระบริสุทธิคุณ", "พระปัญญาคุณ" ผู้ซึ่งได้ทรงสั่งสอนประกาศพระสัจธรรม คือ ความจริงของโลก แก่ชนทั้งปวงโดย "พระมหากรุณาธิคุณ" จวบจนทรง "เสด็จดับขันธปรินิพพาน" ในวาระสุดท้าย ทั้งสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องในวันเพ็ญเดือน 6 นี้ทำให้พระพุทธศาสนาได้บังเกิดและสืบต่อมาอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน


ความสำคัญ

วันวิสาขบูชาเป็นวันที่ระลึกถึงวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (เดือน 6) ตรงกันทั้ง 3 คราว คือ
  • เช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวันระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ
  • เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
  • หลังจากตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงออกประกาศพระธรรมวินัยและโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลา 45 ปี เมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็ เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ   (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย)
เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นตรงกันในวันเพ็ญ เดือน 6 ชาวพุทธจึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า    "วันวิสาขบูชา"   ซึ่งแปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนหก      (บางแห่งเรียกว่า วันพระพุทธเจ้า หรือ พุทธชยันตี)


เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันวิสาขบูชาในพุทธประวัติ

วันประสูติ

        เหตุการณ์ในวันประสูติเป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับแรกของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส โดยพระพุทธเจ้าหรือพระนามเดิม "เจ้าชายสิทธัตถะ" ได้ประสูติในพระบรมศากยราชวงศ์ เป็นพระราชโอรสแห่งพระเจ้าสุทโธทนะศากยราชา ผู้ทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และ พระนางสิริมหามายา ศากยราชเทวี ผู้เป็นพระราชมเหสีแห่งพระเจ้าสุทโธทนะ โดยเจ้าชายสิทธัตถะทรงดำรงตำแหน่งศากยมกุฏราชกุมาร ผู้จักได้รับสืบพระราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์สืบไป

          จากหลักฐานชั้นบาลี (พระไตรปิฎก) และอรรถกถา กล่าวว่า หลังจากพระโพธิสัตว์ผู้ดำรงอยู่ในดุสิตเทวโลกได้บำเพ็ญพระบารมีครบถ้วนแล้ว   ได้ทรงรับคำอาราธนาเพื่อจุติลงมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์จึงได้จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาสู่พระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา เมื่อเวลาใกล้รุ่ง วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปี ระกา ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
          เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรถ์ครบถ้วนทศมาส (10 เดือน) ในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (ตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี) พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประสูติพระราชบุตรยังเมืองเทวทหะอันเป็นเมืองบ้านเกิดของพระองค์ แต่ขณะเสด็จพระราชดำเนินได้เพียงกลางทางหรือภายในพระราชอุทยานลุมพินีวันซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะต่อกัน พระองค์เกิดประชวรพระครรภ์จะประสูติ อำมาตย์ผู้ตามเสด็จจึงจัดร่มไม้สาละถวาย พระนางจึงประสูติพระโอรส ณ ใต้ร่มไม้สาละนั้น โดยขณะประสูติพระนางประทับยืน พระหัตถ์ทรงจับกิ่งสาละไว้ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติแล้ว (โดยอาการที่พระบาทออกจากพระครรภ์ก่อน) พระโพธิสัตว์ได้ทรงพระดำเนินไปได้ 7 ก้าว และได้   ทรงเปล่งอาสภิวาจา   (วาจาประกาศความเป็นผู้สูงสุด) ขึ้นว่า

อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส.
อยมนฺติมา ชาติ. นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว.
คำแปล : เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก. ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย. บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มี ดังนี้
สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. อจฺฉริยอพฺภูตธมฺมสุตฺต อุปริ. ม. 14/249-251/366-7-8-9, 371
          โดยการทรงเปล่งอาสภิวาจาเป็นอัศจรรย์นี้ นับเป็นบุรพนิมิตแห่งพระบรมโพธิญาณ ที่เจ้าชายน้อยผู้เป็นพระบรมโพธิสัตว์จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลอีกไม่นาน


วันตรัสรู้ 

          เหตุการณ์การตรัสรู้พระบรมสัมมาสัมโพธิญาณของเจ้าชายสิทธัตถะนี้ เป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับที่สองของพระพุทธเจ้าที่ได้เกิดในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมากที่สุดของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา โดยถือได้ว่าเป็นการเกิดครั้งที่สองของเจ้าชายสิทธัตถะ คือ ครั้งแรกนั้นเพียงเกิดเป็นมนุษย์ แต่การตรัสรู้นี้ถือว่าเป็นการเกิดใหม่อีกครั้ง เป็นการเกิดที่หาได้โดยยาก เป็นการเกิดที่สมบูรณ์พร้อมด้วยอริยผล รู้แจ้งซึ่งสรรพกิเลสทั้งปวง หลุดพ้นจากบ่วงแห่งมาร คือ ทุกข์และสุขทั้งปวงได้หมดสิ้น เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" แปลว่า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง (ผู้ไม่ได้รับบัญชาจากใคร ผู้ไม่ได้รับโองการจากพระผู้สร้าง หรือเทพเทวดาองค์ไหน) เป็นการ "รู้แจ้งโลกทั้งปวง" ที่เจ้าชายสิทธัตถะในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งพึงกระทำได้ และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะ "รู้" เหมือนที่พระองค์ทรงรู้ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น จึงทำให้มีผู้เรียกพระธรรมวินัยหรือคำสั่งสอนของพระองค์ว่า "พระพุทธศาสนา" แปลว่า "ศาสนาของผู้รู้แจ้ง - ศาสนาของผู้ (ปฏิบัติเพื่อ) หลุดพ้นจากกิเลสทั้งมวล

           การออกผนวช

     เหตุการณ์การออกผนวชจากหลักฐานชั้นต้น คือ พระไตรปิฎก กล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะอายุได้ 29 พรรษา ได้ทรงปรารภเหตุคือ ความแก่ เจ็บ ตาย ที่มีอยู่ทุกคนเป็นธรรมโลก ไม่มีใครจะรอดพ้นไปได้ แต่เพราะว่ามิได้ฟังคำสั่งสอนของผู้รู้ จึงทำให้มัวแต่มานั่งรังเกียจเหตุเหล่านั้นว่าเป็นของไม่ควรคิด ไม่ควรสนใจ ทำให้คนเราทั้งหลาย มัวมาแต่ลุ่มหลงอยู่ในกิเลสทั้งหลายเพราะความเมา 3 ประการ คือ เมาว่าตัวยังหนุ่มยังสาวอยู่อีกนานกว่าจะแก่ 1 เมาว่าไม่มีโรคอยู่และโรคคงจะไม่เกิดแก่เรา 1 เมาว่าชีวิตเป็นของยั่งยืน 1 มัวแต่ใช้ชีวิตทิ้งไปวัน ๆ กล่าวคือ ทรงดำริว่า

"...มนุษย์ทั้งหลายมีความทุกข์เกิดขึ้นครอบงำอยู่ตลอดเวลาก็จริง 
เกลียดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็จริง
แต่ทำไมมนุษย์ทั้งหลายยังมัวแสวงหาทุกข์ร้อนใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา 
แล้วทำไม เราต้องมามัวนั่งแสวงหาทุกข์ใส่ตัว (ให้โง่) อยู่อีกเล่า "
สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค อุปริ. ม. มู. ม. 12/316/316


นัยยะที่ ๑
ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะถึงกับตั้งพระทัยออกผนวชด้วยดำริว่า
" เมื่อรู้ว่าการเกิดมี (ทุกข์) เป็นโทษแล้ว เราพึงแสวงหา "นิพพาน
อันไม่มีความเกิด อันเป็นธรรมที่เกษมจากเครื่องร้อยรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเถิด "
สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค มู. ม. 12/316/316

นัยยะที่ ๒
นอกจากนี้ ใน สคารวสูตร มีพระพุทธพจน์ตรัสสรุปสาเหตุที่ทำให้ทรงตั้งพระทัยออกบรรพชาไว้สั้น ๆ ว่า
" ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสแสงสว่าง; 
ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว 
เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว, โดยง่าย นั้นไม่ได้. 
ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกจากเรือน 
บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือน เถิด "
สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. สคารวสุตฺต พฺราหฺมณวคฺค ม. มู.13/669/738

นัยยะที่ ๓
ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหลายนี้พระองค์จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จออกผนวช โดยการเสด็จออกผนวชตามนัยพระไตรปิฎกนั้น มิได้ทรงหนีออกจากพระราชวัง แต่เสด็จออกผนวชต่อหน้าพระราชบิดาและพระราชมารดาเลยทีเดียว ดังใน  โพธิราชกุมารสูตร  ราชวรรค   ว่า
" ...เรายังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด บริบูรณ์ด้วยเยาว์อันเจริญในปฐมวัย, 
เมื่อบิดามารดาไม่ปรารถนาด้วย กำลังพากันร้องไห้ น้ำตานองหน้าอยู่ 
เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว..."
สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺต ราชวคฺค ม. มู. 13/443/489


          แสวงหาอาจารย์
    เมื่อทรงออกผนวชแล้ว   พระองค์ทรงเข้าศึกษาในสำนักลัทธิต่าง ๆ      เช่น  สำนักอาฬารดาบส รามบุตร   และ   สำนักอุทกดาบส รามโคตร   ได้บรรลุสมาบัติ 8 สิ้นความรู้เจ้าสำนักทั้งสอง แต่พระองค์ยังไม่ทรงพอพระทัยเพราะสมาบัติทั้ง 8 นั้น ไม่สามารถทำให้พระองค์ตรัสรู้ได้ จึงทรงออกจากสำนักของอาจารย์ทั้งสอง เสด็จไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เป็นสถานที่รมณียสถาน มีป่าชัฏ แม่น้ำใสสะอาด และมีโคจรคาม (สถานที่บิณฑบาต) อยู่โดยรอบ จึงทรงตั้งพระทัยที่จะบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ ที่แห่งนี้

             บำเพ็ญทุกกรกิริยา   
     ในช่วงแรกนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรทางกาย    คือ    "ทุกกรกิริยา"   คือ การบำเพ็ญเพียรที่นักพรตผู้บำเพ็ญตบะในสมัยนั้นยกย่องว่าเป็นยอดของการบำเพ็ญเพียรทั้งปวง 3 ประการ โดยในระหว่างบำเพ็ญเพียร ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ   วัปปะ   ภัททิยะ   มหานามะ    และ  อัสสชิ    ผู้เป็นพราหมณ์ (โกณฑัญญะ) และบุตรแห่งพราหมณ์ (ปัญจวัคคีย์ที่เหลือ) ที่ได้ร่วมงานทำนายลักษณะมหาบุรุษแห่งเจ้าชายสิทธัตถะ (ในคราว 5 วันหลังจากประสูติ) ว่า      "ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก"    เมื่อท่านเหล่านั้นได้ทราบข่าวการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะ จึงชักชวนกันออกบวชเพื่อตามหาเจ้าชาย และได้พบเจ้าชายสิทธัตถะในขณะกำลังบำเพ็ญทุกกรกิริยาจึงคอยเฝ้าอยู่ปฏิบัติ ต่อมา เมื่อพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญเพียรถึงขั้นยวดยิ่งแล้วแต่ยังไม่ตรัสรู้ พระองค์ได้ทราบอุปมาแห่งพิณ 
3 สาย ว่าการปฏิบัติเช่นนี้เป็นหนทางอันสุดโต่งเกินไป จึงได้ละทุกกรกิริยาเสีย หันกลับมาเสวยอาหาร เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 จึงคิดว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรทางกายด้วยทุกกรกิริยา ไม่มีโอกาสตรัสรู้ได้ จึงพาพวกละทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
      เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะกลับมาเสวยพระกระยาหารจนพระวรกายกลับมามีพระกำลังขึ้นเหมือนเดิมแล้ว จึงทรงเปลี่ยนมาเริ่มบำเพ็ญเพียรทางใจต่อไป จนล่วงเข้าเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขมาส หลังบรรพชาได้ 6 ปี  นางสุชาดา ธิดานายบ้านอุรุเวลาเสนานิคม ได้นำข้าวมธุปายาสไปถวายพระองค์ขณะประทับอยู่ ณ ต้นไทรใกล้กับบ้านของนาง ด้วยคิดว่าพระองค์เป็นเทวดา เพราะวันนั้นพระองค์มีรัศมีผ่องใส จนเมื่อทรงรับเสวยข้าวมธุปายาสแล้วจึงได้ทรงนำถาดทองคำไปอธิษฐานลอยในแม่น้ำเนรัญชรา
จวบจนเวลาเย็น ได้ทรงรับถวายหญ้าคา (หญ้ากุศะ) 8 กำมือ จากนายโสตถิยะพราหมณ์ ทรงนำไปปูลาดเป็นโพธิบัลลังก์ ณ ใต้ต้นอัสสถะพฤกษ์ (หลังจากการตรัสรู้จึงได้ชื่อใหม่ว่า "ต้นพระศรีมหาโพธิ์" หรือ "ต้นโพธิ์") ต้นหนึ่ง ริมฝั่งน้ำเนรัญชรา ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หันพระปฤษฏางค์ (หลัง) ไปทางลำต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงอธิษฐานในพระทัยว่า

" ...หนัง เอ็น กระดูก จักไม่เหลืออยู่ เนื้อและเลือดในสรีระ จักเหือดแห้งไปก็ตามที 
เมื่อยังไม่ลุถึงประโยชน์อันบุคคลจะลุได้ด้วยกำลังของบุรุษ (การตรัสรู้) 
ด้วยความเพียรของบุรุษ (มนุษย์) ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว 
จักหยุดความเพียรนั้นเสีย เป็นไม่มีเลย..."
สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปญิจมสุตฺต กมฺมกรณวคฺค ทุก. อํ 20/64/251


            ตรัสรู้

      จากนั้น พญามารได้ยกพลเสนามารมาพจญ พระองค์ต้องต่อสู้ด้วยพระบารมี 10 ทัศ กล่าวในแง่ธรรมาธิษฐาน คือ ทรงต่อสู้กับกิเลสภายในใจจนทรงเอาชนะได้ด้วยพระบารมี คือ ความลำบากในการบำเพ็ญความดีทั้งปวง อันทรงได้สั่งสมมาตลอดแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงต่อสู้จนพญามารพ่ายแพ้ไปตอนพระอาทิตย์จะตกแล้ว พระองค์จึงทรงเริ่มเจริญสมถภาวนา ทำจิตใจให้เป็นสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน   ทุติยฌาน   ตติยฌาน   และ จตุตถฌาน    ตามลำดับ แล้วทรงทำให้ฌานอันเป็นองค์แห่งปัญญา 3 ประการ เกิดขึ้นในยามทั้ง 3 คือ
  1. ปฐมยาม ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" คือ ทรงสามารถระลึกชาติได้
  2. มัชฌิมยาม ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ รู้การตายการเกิดของสัตว์ทั้งปวง หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าได้ ทิพยจักษุญาณ คือ ตาทิพย์
  3. ปัจฉิมยาม พระองค์ได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมที่อาศัยซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันต่อเนื่องเสมือนกับลูกโซ่ จนได้รู้แจ้งซึ่งอริยสัจธรรม 4 ประการ คือ
  • ทุกข์ ความทุกข์ สภาวะที่ทนได้ยาก ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ (ปัญหา)
  • สมุทัย สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (สาเหตุของปัญหา)
  • นิโรธ ความดับไปซึ่งต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (จุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหา)
  • มรรค ทนทางที่จะดับทุกข์ได้ (วิธีการแก้ปัญหา)
สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาวาร. สํ. 19/528/1664

     แล้วพระองค์จึงทรงบรรลุซึ่ง "อาสวักขยญาณ" คือ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวกิเลสทั้งปวง เมื่อนั้นจิตของพระองค์ก็หลุดพ้นจากกิเลสและอาสวะทั้งปวง ไม่มีความยึดถือมั่นด้วยตัณหาอุปาทาน  อันเป็นการได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ ในยามที่ 3 แห่งคืนวิสาขมาส ก่อนพุทธศักราช 45 ปี
     ตั้งแต่นั้น พระองค์ทรงได้รับการถวายพระนามบัญญัติโดยคุณนิมิตแห่งพระองค์ว่า "อรหํ" เป็นพระอรหันต์ผู้ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง และ "สมฺมาสมฺพุทฺโธ" เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ได้ตรัสรู้ชอบได้โดยลำพังพระองค์เอง หามีผู้ใดเป็นครูอาจารย์ไม่ ต่อมา พระองค์ได้ทรงนำสิ่งที่พระองค์ทรงรู้แจ้งในวันตรัสรู้นี้มาเผยแก่หมู่ชนทั้งหลาย พระองค์จึงทรงได้รับขนานพระนามว่า    "สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า"   สืบมา


วันปรินิพพาน

              ทรงปลงพระชนมายุสังขาร

       พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติดำรงตนในฐานะพระบรมศาสดา เผยแผ่พระธรรมวินัย คือ พระพุทธศาสนาแก่พหูชนชาวชมพูทวีปเป็นเวลากว่า 45 ปี ทำให้พระศาสนาตั้งหลักฐานอย่างมั่นคง ณ ชมพูทวีปกว่าพันปี และพระพุทธศาสนาได้ขยายออกไปทั่วแผ่นดินเอเชียนับแต่นั้นมา จวบจนพระพุทธองค์มีพระชนมายุ 80 พรรษา มีพระวรกายชราภาพเสมือนคนทั่วไป   พระองค์ตรัสว่า ศาสนาของพระองค์ได้ทรงตั้งมั่นแล้ว ทรงทำหน้าที่แห่งพระพุทธเจ้าบริบูรณ์แล้ว   ในเวลาสามเดือนก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ขณะพระองค์ประทับอยู่ ณ ปาวาลเจดีย์ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ได้ตรัสอภิญญาเทสิตธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วพระองค์ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขารว่า

" ...ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนท่านทั้งหลาย: สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา..., ตถาคตจักปรินิพพาน โดยกาลล่วงไปแห่งสามเดือนจากนี้..."
สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/142/109

       จากนั้น พระองค์เสด็จไปบ้านภัณฑคาม    บ้านหัตถิคาม จนเสด็จถึงเมืองปาวา โดยลำดับ ที่นี่พระองค์ได้ประทับที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ กัมมารบุตร ทรงแสดงธรรมแก่นายจุนทะ และเสด็จไปรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น พระองค์ทรงอนุญาตรับบิณฑบาตเสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะจัดไว้ (ต่อจากนี้ พระองค์ประชวรด้วยโรคปักขันธิกาพาธอย่างกล้าจวบจนสิ้นพระชนมายุ)           จากนั้น ได้เสด็จไปสู่เมืองกุสินารา   ในกลางทางทรงพักที่ร่มไม้แห่งหนึ่ง รับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดสังฆาฏิเพื่อเสวยน้ำดื่มและทรงสนทนากับปุกกุสสะ มัลละบุตร จนเกิดศรัทธาถวายผ้าเนื้อดีสองผืน ทรงรับสั่งให้นำมาห่มคลุมพระองค์ผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่งรับสั่งให้ถวายแก่พระอานนท์ เมื่อปุกกุสสะถวายผ้านั้นแล้วหลีกไป พระอานนท์ได้น้อมถวายผ้าของตนแก่พระพุทธเจ้า ได้เห็นพระวรกายของพระองค์ว่ามีพระฉวีผ่องใสยิ่งจึงได้ทูลถาม พระองค์ตรัสตอบว่า

" ...อานนท์ !  เป็นอย่างนั้น, กายของตถาคต ย่อมมีฉวีผุดผ่องในกาลสองครั้งคือ 
ในราตรีที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ, และราตรี ที่ตถาคตปรินิพพาน
ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.
อานนท์ !   การปรินิพพานของตถาคตจักมีในระหว่างต้นสาละคู่ 
ในสวนสาละอันเป็นที่พัก ของพวกมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา ในตอนปัจฉิมยามคืนนี้..."
สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/149/117


                 ประทับสีหไสยาสน์

         เมื่อเสด็จถึงพระราชอุทยานของมัลลกษัตริย์         พระองค์ทรงให้พระอานนท์จัดที่บรรทมระหว่างต้นสาละคู่   ขณะทรงประทับสีหเสยยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ   ได้เกิดอัศจรรย์     คือ ดอกาละผลิดอกผิดฤดูกาลโปรยลงบนพระสรีระ    ดอกมณฑารพ    จุรณ์ไม้จันทร์   ตกลงและดนตรีทิพย์บรรเลงขึ้นเพื่อบูชาแก่พระพุทธเจ้า เทวดาทั่วโลกธาตุได้มาประชุมกันเพื่อเห็นพระพุทธเจ้า บางองค์คร่ำครวญเสียใจด้วยอาการต่าง ๆ

                ประทานพระปัจฉิมโอวาท

        จากนั้น พระองค์ทรงอนุญาตให้พวกมัลละกษัตริย์เข้าเฝ้าและได้ตรัสแก้ปัญหาของสุภัททะปริพาชก จนเกิดศรัทธาขอบรรพชาด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายในบรรดาสาวกที่ทันเห็นพระพุทธองค์ แล้วตรัสให้พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์เป็นผู้สืบศาสดาไว้ว่า

" ...อานนท์  !   ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย 
ธรรมวินัยนั้น จักเป็นองค์ศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย 
เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว..."
สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/149/117


จากนั้นตรัสพระโอวาทที่สำคัญ ๆ อีก 4-5 เรื่อง จนในที่สุดตรัสพระปัจฉิมโอวาทเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่า

" ...หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ...
แปลว่า :   ภิกษุทั้งหลาย !   บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า 
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา. 
พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด "
สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/149/117


              ปรินิพพาน

       จากนั้น พระองค์ทรงนิ่งเงียบ หลับตา ทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติ 9 มีรูปฌาน 4 คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จากนั้นเป็นอรูปฌาน 4 คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ (เรียกรวมเป็น สมาบัติ 8) และ นิโรธสมาบัติ 1 ชื่อเต็มคือสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วย้อนลงมาตามลำดับจนถึงปฐมฌาน แล้วย้อนขึ้นอีกเป็น ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานเป็นปัจฉิมสมาบัติ เมื่อออกจากจตุตถฌานจึง เสด็จดับขันธปรินิพพาน
พระพุทธองค์ตรัสถึงความดับสมุทัยอันเป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ (เสด็จดับขันธปรินิพพาน) ไว้เมื่อคราวทรงพระชนม์อยู่ว่า

" ...ต้นไม้ เมื่อโคนต้นยังอยู่ ไม่มีอุปัทวะ แม้ถูกตัด (ส่วนบน) แล้วก็งอกได้อีกอยู่นั่น ฉันใดก็ดี 
แม้ทุกข์นี้ก็ฉันนั้น เมื่อตัณหานุสัยยังมิได้ถูกถอนทิ้งแล้ว ก็ได้เกิดร่ำไป..."
สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ขุ. ธ. 25/338/138

       กล่าวคือ พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานเพราะความดับไปแห่งสมุทัย คือ ได้ทรงถอนเสียสิ้นซึ่งต้นและราก    กิเลสตัณหา    อันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงนี้แล้วเมื่อในวันตรัสรู้   การเสด็จดับขันธปรินิพพานนี้จึงเป็นการตายครั้งสุดท้ายของพระพุทธองค์ โดย "สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ" (สิ้นตัณหาเมื่อคราวตรัสรู้ และสิ้นขันธ์ห้า เมื่อคราวปรินิพพาน)
       เมื่อนั้นได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ โลมชาติลุกขึ้นชูชัน กลองทิพย์บรรลือลั่นไปในอากาศ ไว้อาลัยแด่การจากไปของพระพุทธองค์ ผู้ทรงเป็นบรมครูของโลก กายของพระองค์สิ้นเชื้อคือตัณหาที่จะนำไปเกิดในภพใหม่ ครั้นกายแตกดับแล้ว ถึงความเป็นของว่าง ไม่มีอะไรเหลือสำหรับส่วนผสมของกายในภพต่อไป พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในปัจฉิมราตรี วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 1 ปี ตามการนับของไทย 


พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันวิสาขบูชา

             ในวันวิสาขบูชานี้ ถือเป็นวันสำคัญยิ่งที่ชาวพุทธทั่วโลกจะมารวมกันจัดพิธีทำบุญใหญ่หรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อบำเพ็ญกุศลระลึกถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งในฐานะที่วันวิสาขบูชาได้รับการยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากลของโลก เมื่อถึงวันวิสาขบูชา องค์การสหประชาชาติจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วย เช่น สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการอัญเชิญพระเจดีย์วิสาขบูชานุสรณ์ สกลโลกประกาศบูชาวันวิสาขะ (ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ) ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติเป็นการถาวร มาประดิษฐานให้ประชาชนสักการบูชา เป็นต้น
             สำหรับในประเทศไทย   นอกจากพุทธศาสนิกชนจะเข้าวัด  บำเพ็ญบุญกุศลถือศีลฟังธรรมแล้ว ยังนิยมปล่อยนกปล่อยปลา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถในตอนค่ำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วย
วันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ตั้งใจรักษาศีล 5 ศีล 8 งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ทำบุญถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น[46]
โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันวิสาขบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันวิสาขบูชาก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้
     1.  บทบูชาพระรัตนตรัย    (บทสวดบาลี)
                      อะระหัง   สัมมาสัมพุทโธ   ภะคะวา                     พุทธัง  ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ.  
                     สะวากขาโต    ภะคะวะตา   ธัมโม,                       ธัมมัง  นะมัสสามิ.   
                     สุปะฏิปันโน    ภะคะวะโต     สาวะกะสังโฆ,         สังฆัง   นะมามิ.

     2.  บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า
                      นะโม    ตัสสะ    ภะคะวะโต   อะระหะโต   สัมมา  สัมพุท  ธัสสะ.      3 จบ)
     3.  บทสรรเสริญพระพุทธคุณ   (บทสวดบาลี )                                                                                            
                      อิติปิโส   ภะคะวา   อะระหัง    สัมมาสัมพุทโธ,
            วิชชาจะระณะสัมปันโน,
            สุคโต   โลกะวิทู,
            อนุตตะโร    ปุริสสะทัมมะสาระถิ,
            สัตถา    เทวะมะนุสสานัง,
            พุทโธ    ภะคะวาติ

      4.  บทสรรเสริญพระพุทธคุณ    สวดทำนองสรภัญญะ 
           องค์ใดพระสัมพุทธ
สุวิสุทธสันดาน
           ตัดมูลกิเลสมาร
บ่ มิหม่นมิหมองมัว
           หนึ่งในพระทัยท่าน
ก็เบิกบานคือดอกบัว
           ราคี บ่ พันพัว
สุวคนธกำจร
                     องค์ใดประกอบด้วยพระกรุณาดังสาคร
          โปรดหมู่ประชากร
มละโอฆะกันดาร
                    ชี้ทางบรรเทาทุกข์และชี้สุขเกษมสานต์
          ชี้ทางพระนฤพาน
อันพ้นโศกวิโยคภัย
                    พร้อมเบ็ญจพิธจัก-ษุจรัสวิมลไส
          เห็นเหตุที่ใกล้ไกล
ก็เจนจบประจักษ์จริง
                    กำจัดน้ำใจหยาบสันดานบาปแห่งชายหญิง
          สัตว์โลกได้พึ่งพิง
มละบาปบำเพ็ญบุญ
                    ข้าขอประณตน้อมศิระเกล้าบังคมคุณ
         สัมพุทธการุญ-
ญภาพนั้นนิรันดรฯ 
      5.  บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลี)
                     สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม,
           สันทิฏฐิโก,
           อกาลิโก,
           เอหิปัสสิโก,
           โอปะนะยิโก,
          ปัจจัตตัง     เวทิตัพโพ     วิญญูฮีติ.

      6.  บทสรรเสริญพระธรรมคุณ   สวดทำนองสรภัญญะ
                   ธรรมะคือคุณากร                  ส่วนชอบสาธร            ดุจดวงประทีปชัชวาล   
                   แห่งองค์พระศาสดาจารย์     ส่องสัตว์สันดาน         สว่างกระจ่างใจมล   
                   ธรรมใดนับโดยมรรคผล       เป็นแปดพึงยล            และเก้ากับทั้งนฤพาน   
                  สมญาโลกอุดรพิสดาร           อันลึกโอฬาร              พิสุทธิ์พิเศษสุกใส   
                  อีกธรรมต้นทางครรไล           นามขนานขานไข       ปฏิบัติปริยัติเป็นสอง   
                  คือทางดำเนินดุจคลอง         ให้ล่วงลุปอง               ยังโลกอุดรโดยตรง   
                  ข้าขอโอนอ่อนอุตมงค์          นบธรรมจำนง             ด้วยจิตและกายวาจา  
            
      7.  บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:   สุปฏิปันโน ฯลฯ)
                 สุปะฏิปันโน         ภะคะวะโต    สาวะกะสังโฆ,
       อุชุปะฏิปันโน      ภะคะวะโต     สาวะกะสังโฆ,
       ญายะปะฏิปันโน  ภะคะวะโต     สาวะกะสังโฆ,
       สามีจิปะฏิปันโน  ภะคะวะโต     สาวะกะสังโฆ
       ยะทิทัง,   จัตตาริ    ปุริสะยุคานิ    อัฏฐปุริสปุคคะลา,
       เอสะ   ภะคะวะโต   สาวะกะสังโฆ,
       อาหุเนยโย,   ปาหุเนยโย,   ทักขิเนยโย,   อัญชะลีกะระณีโย,
       อนุตตะรัง  ปุญญักเขตตัง  โลกัสสาติ.

      8.  บทสรรเสริญพระสังฆคุณ    สวดทำนองสรภัญญะ 
                สงฆ์ใดสาวกศาสดา              รับปฏิบัติมา            แต่องค์สมเด็จภควันต์   
                เห็นแจ้งจตุสัจเสร็จบรร-        ลุทางที่อัน              ระงับและดับทุกข์ภัย   
                โดยเสด็จพระผู้ตรัสไตร         ปัญญาผ่องใส         สะอาดและปราศมัวหมอง   
                เหินห่างทางข้าศึกปอง           บ่ มิลำพอง             ด้วยกายและวาจาใจ   
                เป็นเนื้อนาบุญอันไพ-            ศาลแด่โลกัย           และเกิดพิบูลย์พูนผล   
                สมญาเอารสทศพล               มีคุณอนนต์             อเนกจะนับเหลือตรา   
                ข้าขอนบหมู่พระศรา-            พกทรงคุณา-          นุคุณประดุจรำพัน   
                ด้วยเดชบุญข้าอภิวันท์           พระไตรรัตน์อัน       อุดมดิเรกนิรัตศัย   
                จงช่วยขจัดโพยภัย                อันตรายใดใด         จงดับและกลับเสื่อมศูนย์ฯ 

      9.  บทสวดบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชา   (บทสวดบาลี)
               ยะมัมหะ โข มะยัง ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน
               ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ
               โข โส ภะคะวา มัชฌิเมสุ ชะนะปะเทสุ อะริยะเกสุ มะนุสเสสุ
               อุปปันโน, ขัตติโย ชาติยา โคตะโม โคตเตนะ, สักยะปุตโต สักยะกุลา
               ปัพพะชิโต สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก สัสสะมะณะ-
               พราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิ
               อะภิสัมพุทโธ, นิสสังสะยัง โข โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
               วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะ-
               สาระถิ สัตถาเทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวา, สวากขาโต โข ปะนะ
               เตนะ ภะคะวะตา ธัมโม, สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะ-
               ยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ, สุปะฏิปันโน โข ปะนัสสะ
               ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,
               ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน
               ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะ-
               ปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย ปาหุเนยโย
               ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ,
อะยัง โข ปะนะ      " ถูโป "    หรือ     " ปะฏิมา "     ......ตัง 
               (แล้วแต่สถานที่่เป็นสถูปเจดีย์หรือองค์พระปฎิมา  เลืือก  ถูโป  หรือ  ปฏิมา)
ภะคะวันตัง.....อุททิสสะ กะโต       (ใช้กับ  "ถูโป)
ภะคะวันตัง.....อุททิสสะ กะตา       (ใช้กับ  "ปะฏิมา")   
              ยาวะเทวะ ทัสสะเนนะ ตัง ภะคะวันตัง
              อะนุสสะริตวา ปะสาทะ สังเวคะปะฏิลาภายะ, มะยัง โข เอตะระหิ อิมัง
              วิสาขะปุณณะมีกำลัง ตัสสะ ภะคะวะโต ชาติสัมโพธินิพพานะกาละ
              สัมมะตัง (ถ้าวันอัฏฐมี เปลี่ยนข้อความที่ขีดเส้นใต้เป็น เอตะระหิ อิมัง
              วิสาขะปุณณะมิโตปะรัง อัฏฐะมีกำลัง ตัสสะ ภะคะวะโต สะรีรัชฌา-
              ปะนะกาละ สัมมะตัง) ปัตวา อิมัง ฐานัง สัมปัตตา, อิเม ทัณฑะที-
              ปะธูปาทิ สักกาเร คะเหตวา อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง
              กะริตวา ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา,

อิมัง................ถูปัง
อิมิง.................ปะฏิมัง....
              ติกขัตตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ
              อิมัง ยะถา คะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานา, สาธุ โน ภันเต
              ภะคะวา สุจิระปะรินิพพุโตปิ ญาตัพเพหิ คุเณหิ อะตีตารัมมะณะตายะ
              ปัญญายะ มาโน, อิเม อัมเหหิ คะหิเต สักกเร ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง
              ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ.

คำแปล
.........เราทั้งหลายถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคพระองค์ใดว่าเป็นที่พึ่ง, พระผู้มี
พระภาคพระองค์ใดเป็นศาสดาของเราทั้งหลาย แลเราทั้งหลายชอบซึ่งธรรม
ของพระผู้มีพระภาคพระองค์ใด, พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล ได้อุบัติ
แล้วในหมู่มนุษย์ ชาวอริยกะในมัชฌิมชนบท, พระองค์เป็นกษัตริย์โดย
พระชาติ เป็นโคดมโดยพระโคตร, เป็นศากยบุตรเสด็จออกบรรพชาแล้วแต่
ศากยสกุล เป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วซึ่งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ในโลกทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ทั้งสมณพราหมณ์เทวดาแล
มนุษย์ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง เป็นผู้
ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถี
แห่งบุรุษควรฝึกได้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้ง
หลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้มีโชค โดยไม่ต้องสงสัยแล
อนึ่ง พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นตรัสดีแล้ว อันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง
ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะ
ตน และพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วแล เป็น
ผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม, เป็นผู้ปฏิบัติสมควร, นี้คือคู่แห่ง
บุรุษสี่ บุรุษบุคคลแปด, นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค, เป็นผู้ควร
ของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี
เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.....
(พระสถูป)   หรือ  (พระปฏิมา)      นี้แล
นักปราชญ์ ได้อุทิศเฉพาะต่อพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น สร้างไว้แล้วเพียงเพื่อ
ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นด้วยทรรศนะแล้ว ได้ความเลื่อมใสแลสังเวช
บัดนี้เราทั้งหลายมาถึง กาลวิสาขปุรณมี เป็นที่รู้กันว่า กาลเป็นที่ประสูติ
ตรัสรู้ แลเสด็จปรินิพพานแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น (ถ้าวันอัฏฐมี เปลี่ยน
ข้อความที่ขีดเส้นใต้ เป็น กาลที่ครบ ๘ เบื้องหน้าแต่วันวิสาขปุรณมี เป็นที่รู้
กันว่า กาลเป็นที่ถวายพระเพลิงพระสรีระ แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น) จึง
มาประชุมกันแล้ว ณ ที่นี้ ถือสักการะมีประทีปด้ามแลธูปเป็นต้นเหล่านี้ ทำ
กายของตนให้เป็นดังภาชนะรับเครื่องสักการะ ระลึกถึงพระคุณตามเป็นจริง
ทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น บูชาด้วยสักการะอันถือไว้แล้วอย่างไร
จักทำประทักษิณสิ้นวาระสามรอบ ซึ่ง........
(พระสถูป)     (พระปฏิมากร)    นี้ 
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ       ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้เสด็จปรินิพพานนานมาแล้ว ยังปรากฏอยู่ด้วย
พระคุณสมบัติอันข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะพึงรู้โดยความเป็นอตีตารมณ์
จงทรงรับซึ่งเครื่องสักการะอันข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถือไว้แล้วนี้ 
เพื่อประโยชน์   เพื่อความสุขแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนาน เทอญ. 


                 จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี

หมายเหตุ       แต่ละแห่ง  แต่ละสถานที่   แต่ละวัดมีหลักธรรมเนียมปฏิบัติไม่เหมือนกัน  
                        ดังนั้นทั้งปวงนี้อ้างอิงเพื่อประกอบแนวทางศึกษาความรู้


หลักธรรมในวันวิสาขบูชา

             วันวิสาขบูชา เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าถึง 3 เหตุการณ์ คือ การประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเหตุการณ์เหล่านั้น คติธรรมหลักคือไตรลักษณ์ หรืออนิจจลักษณะ อันได้แก่ความเป็นธรรมดาของโลก 3 ประการ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์คือตั้งอยู่ในสภาพเดิมมิได้ และอนัตตา ความที่สังขารทั้งหลายไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ (เช่น บังคับไม่ให้แก่ไม่ได้ บังคับไม่ให้ตายไม่ได้) ซึ่งทุกสรรพสิ่งในโลก ล้วนตกอยู่ในสภาพ 3 ประการนี้ แม้พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาของโลก ก็ยังต้องทรงตกอยู่ในกฎเหล่านี้ ไม่มีใครสามารถพ้นไปได้สำหรับหลักธรรมคติเทียบเคียงกับเหตุการณ์ทั้ง 3 ที่สามารถนำมาประพฤติปฏิบัติได้ 3 อย่าง คือ


ความกตัญญู

            ในเหตุการณ์วันประสูติ สามารถยกหลักธรรมมาเทียบเคียงได้ คือ "หลักความกตัญญู" เพราะในพระพุทธประวัติ แม้พระนางสิริมหามายา ผู้เป็นพระราชมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะจะสิ้นพระชนม์ไปหลังที่เจ้าชายประสูติได้เพียง 7 วัน แต่เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้แล้ว ก็ได้เสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาบนดาวดึงสเทวโลก ถึงแม้พระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระราชบิดา พระพุทธองค์ก็เสด็จไปโปรดถึงพระราชวังที่ประทับ จนพระเจ้าสุทโธทนะประชวรหนักใกล้สวรรคต พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จเข้าไปโปรดจนพระราชบิดาได้บรรลุสำเร็จเป็นพระอรหันต์และนิพพานในพระราชวังในวันนั้นเอง
           ซึ่งในเรื่องความกตัญญูต่อบิดามารดา และผู้มีอุปการะก่อนนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้หลายพระสูตรด้วยกัน เช่นใน หลักทิศ 6 เป็นต้น ซึ่งความกตัญญูนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะกับบุคคลเท่านั้น แต่รวมไปแม้กระทั่งต้นไม้ที่ให้ร่มเงาด้วย ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า

" บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาต้นไม้ใด ไม่ควรหักกิ่งต้นไม้นั้น ผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลวทราม "
พระพุทธพจน์จาก — พระไตรปิฏก ขุททกนิกาย ชาดก. 28/26 

            ความกตัญญู จึงนับได้ว่าเป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง มีตัวอย่างหลายเรื่องในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่าพระพุทธองค์ทรงยกย่องผู้มีความกตัญญูต่อบิดามารดา เช่น เรื่องพระภิกษุเลี้ยงบิดามารดาในมหานิบาต   เป็นต้น ซึ่งทำให้พระพุทธองค์ตรัสว่า

" นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา" แปลว่า: "ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี "
พระพุทธพจน์จาก — พระไตรปิฏก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต "ปุตตสูตร

             กล่าวโดยสรุป เหตุการณ์ประสูตินี้     เป็นเครื่องเตือนให้พุทธศาสนิกชนระลึกถึงความกตัญญูกตเวที ที่ทุกคนควรมีในตน


อริยสัจ 4

            ในเหตุการณ์วันตรัสรู้    สามารถยกหลักธรรมมาเทียบเคียงได้ คือ "อริยสัจ 4" อันเป็นหลักธรรมในการแก้ปัญหาชีวิตที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ คือ
  1. "ทุกข์"        ความไม่สบายกายไม่สบายใจ สภาวะที่ทนได้ยากทั้งหลาย     (ปัญหา)
  2. "สมุทัย"     ต้นเหตุของความทุกข์ คือกิเลสตัณหา                                     (ต้นเหตุของปัญหา)
  3. "นิโรธ"      จุดหมายที่จะดับทุกข์ คือนิพพาน                                              (วางเป้าหมาย)
  4. "มรรค"      แนวทางในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์                                             (ลงมือแก้ไข)
พระพุทธพจน์จาก — พระไตรปิฏก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค 19/528/1664

ความไม่ประมาท

          ในเหตุการณ์วันปรินิพพาน      พระพุทธองค์ตรัสปัจฉิมโอวาทไว้บทหนึ่ง อันเป็นยอดของคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ทุกคนควรนำมาปฏิบัติ คือ การมีสติอยู่ทุกเมื่อ ไม่ให้ความทุกข์ร้อนใจอันเกิดจากอำนาจกิเลสเข้าครอบงำ กล่าวคือ ความไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ โดยพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า

" ...อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ...
แปลว่า:   พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วย ความไม่ประมาท เถิด "
สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/149/117



ประสูติ


ตรัสรู้



ปรินิพพาน



                  รวบรวมโดย
พระพงศกร  ปุณฺณวุฑฺโฒ (ไชยแสง)
กุฎีสมเด็จพระพุฒาจารย์    วัดกลางโกสุม
บ้านคุ้มกลางหมู่ที่๑   ต.หัวขวาง  อ.โกสุมพิสัย  จ.มหาสารคาม  ๔๔๑๔๐

1 ความคิดเห็น: