ความรู้เกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชา


วันอาสาฬหบูชา



  วันอาสาฬหบูชา  (บาลี: อาสาฬหปูชา; อังกฤษ: Asalha Puja) เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย   คำว่า  อาสาฬหบูชา  ย่อมาจาก  “อาสาฬหปูรณมีบูชา”    แปลว่า   “การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ”   อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย   ตรงกับ   วันเพ็ญ  เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย  ซึ่งมักจะตรงกับเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม  แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน  ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน
  วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ  ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี  แคว้นมคธ อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา คือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”  แก่ปัญจวัคคีย์
  การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน  ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา   พระอัญญาโกณฑัญญะ  จึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก  และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล (อนุพุทธะ) เป็นคนแรก จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก  คือ  มีทั้งพระพุทธ  พระธรรม  และพระสงฆ์     ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า   “วันพระธรรม”  หรือ  “วันพระธรรมจักร”   อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก  และ  “วันพระสงฆ์”  คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย
  เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีการบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาในประเทศพุทธเถรวาทมาก่อน จนมาในปี พ.ศ. 2501 การบูชาในเดือน 8  หรือวันอาสาฬหบูชา  จึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย  ตามที่    คณะสังฆมนตรี  ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2501  โดยคณะสังฆมนตรีได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย ตามคำแนะนำของ  พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี)   โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนัก     สังฆนายกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย     โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชาอันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล

  อย่างไรก็ตาม วันอาสาฬหบูชาถือเป็นวันสำคัญที่กำหนดให้กับวันหยุดของรัฐเพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนในต่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทอื่น ๆ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชาเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา

ความสำคัญ

  1. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรก   ด้วยการแสดงปฐมเทศนา ที่มีชื่อว่า “ธรรมจักกัปปวัตนสูตร”   ซึ่งหมายถึง  พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป นั่นคือ ธรรมะของพระพุทธองค์เหมือนวงล้อธรรมที่ได้เริ่มเคลื่อนแล้วจากจุดเริ่มต้นในวันนี้  
  2. เมื่อพระโกณฑัญญะ  หนึ่งในปัจวัคคีย์ได้ฟังธรรม  ก็เกิดดวงตาเห็นธรรม คือ เห็นจริงตามที่      พระพุทธองค์ทรงเทศนา  จึงได้ทูลขอบวช   ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงบวชให้ด้วยวิธี   “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”   (การบวชที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้ด้วยการเปล่งวาจาให้เข้ามาเป็นพระภิกษุได้)   ดังนั้น  พระโกณฑัญญะ  จึงเป็นเป็นสาวกองค์แรกในพุทธศาสนา
  3. ทำให้วันนี้เป็นวันที่มี  พระพุทธ   พระธรรม   และพระสงฆ์    ครบเป็นองค์พระรัตนตรัย   เป็นครั้งแรกในโลก



เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันอาสาฬหบูชาในพระพุทธประวัติ

  หลังจากได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมแล้ว พระองค์ได้ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่บริเวณสัตตมหาสถานโดยรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลาถึง 7 สัปดาห์
และในขณะทรงนั่งประทับเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ 5 หลังการตรัสรู้ ภายใต้ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา  ได้ทรงมานั่งคำนึงว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นของลึกซึ้ง คนจะรู้และเข้าใจตามได้ยาก ตามความในมัชฌิมนิกาย  มัชฌิมปัณณาสก์   ว่า
  “... บัดนี้ ไม่สมควรที่เราจะประกาศธรรมที่เราตรัสรู้ เพราะธรรมที่เราตรัสรู้นั้นเป็นสิ่งที่คนทั่วไป ที่ถูกราคะ โทสะครอบงำอยู่จะไม่สามารถมองเห็นได้โดยง่าย, คนที่ถูกราคะย้อมไว้ ถูกกองมืด (คืออวิชชา) หุ้มไว้มิดทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมะของเราที่เป็นสิ่งทวนกระแส (อวิชชา) ที่มีสภาพลึกซึ้ง ละเอียดเช่นนี้ได้เลย...”
   
  ตามความในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย เมื่อพระพุทธองค์ดำริจะไม่แสดงธรรมเช่นนี้ ปรากฏว่าท้าวสหัมบดีพรหมได้ทราบความดังกล่าวจึงคิดว่า   “โลกจะฉิบหายละหนอ   เพราะจิตของพระตถาคตอรหันตสัมมา  สัมพุทธเจ้าน้อมไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย  ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม”  ท้าวสหัมบดีพรหม จึงเสด็จลงจากพรหมโลกเพื่อมาอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงตัดสินใจที่จะทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้แก่คนทั้งหลาย โดยท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวว่า   “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ ย่อมจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักยังมีอยู่”  จากนั้นท้าวสหัมบดีพรหม ได้กล่าวอาราธนาเป็นนิพนธ์คาถาอีก ใจความโดยสรุปว่า
  “... ขณะนี้ ธรรมะที่ไม่บริสุทธิ์ได้เกิดขึ้นในแคว้นมคธมาเนิ่นนาน. ขอให้พระองค์เปิดประตูนิพพานอันไม่ตาย เพื่อสัตว์ทั้งหลายจักได้ฟังธรรมและตรัสรู้ตามเถิด, คนยืนบนยอดเขา ย่อมเห็นได้โดยรอบฉันใด. ข้าแต่พระองค์ พระองค์ย่อมเห็น! พระองค์เห็นเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่จมอยู่ในความทุกข์โศกทั้งปวง ถูกความเกิดแก่เจ็บตายครอบงำอยู่ไหม!. ลุกขึ้นเถิดพระองค์ผู้กล้า! พระองค์ผู้ชนะสงคราม (คือกิเลส) แล้ว!... ขอพระองค์เสด็จจาริกไปในโลกเถิด, ขอพระองค์จงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ที่จะรู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์ มีอยู่แน่นอน!”
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์.
  ด้วยพระมหากรุณาที่ทรงมีต่อมนุษยชาติ  และเล็งเห็นว่าคนในโลกนี้ที่ยังเรียนรู้ได้สามารถแบ่งออกเป็น 4 เหล่า   เปรียบเหมือนดอกบัว 4 ประเภทคือ
        1.  อุคฆติตัญญู      คือ   พวกที่มีปัญญาไว  บอกอะไรก็เข้าใจได้ทันที เหมือนบัวที่โผล่พ้นน้ำแล้ว พร้อมจะบานเมื่อได้รับแสงอาทิตย์
  2.  วิปัจจิตัญญู      คือ   พวกที่จะรู้ธรรมได้ต้องอธิบายขยายความกันยาวๆ จึงจะเข้าใจความหมาย เหมือนบัวที่อยู่เสมอน้ำ  จักบานในวันต่อไป
  3.  เนยยะ      คือ   พวกที่ต้องใช้ความพากเพียร  ฟัง  คิด  ถาม ท่องอยู่เสมอ  จึงจะเรียนรู้ได้    เปรียบเหมือนบัวที่ยังไม่โผล่พ้นน้ำ  แต่เมื่อได้รับการหล่อเลี้ยง ก็สามารถจะโผล่ไปบานในวันต่อๆไป
  4.  ปทปรมะ       ได้แก่   พวกปัญญาอ่อน  หรือพวกที่ฟัง  คิด ถาม ท่องแล้ว  ก็ยังไม่สามารถรู้ธรรมได้   เปรียบเหมือนบัวที่ติดกับเปือกตม   รังแต่จะกลายเป็นอาหารของปลา เต่าต่อไป

  เมื่อทรงพิจารณาใคร่ครวญดังกล่าวแล้วก็คิดถึงบุคคลที่จะไปโปรด  พระองค์ทรงใคร่ครวญถึงผู้ที่พระองค์จะแสดงธรรมโปรดอันดับแรกทรงระลึกถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส ผู้เคยสอนความรู้ขึ้นฌาณให้แก่พระองค์มา แต่ท่านทั้ง ๒ ก็สิ้นชีพไปก่อนแล้ว จึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และ อัสสซิ ผู้ที่เคยมีอุปการคุณแก่พระองค์ ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ฤาษีทั้ง 5 นั้น มีอุปนิสัยแก่กล้าสามารถ บรรลุธรรมได้ จึงเสด็จออกจากต้นมหาโพธิ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เดินทางไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (คือสวนกวาง ดังนั้น กวางจึงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งคู่กับธรรมจักร) เมืองพาราณสี แคว้นกาสี เสด็จไปถึงเย็นวันขึ้น 14 ค่ำ   เดือน อาสาฬหะ (เดือน 8)
  รุ่งขึ้นวันขึ้น 15 ค่ำ พระองค์  จึงทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นธรรมเทศนากัณฑ์แรก โปรดปัญจวัคคีย์  ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้นเอง  สรุปความได้ว่า  บรรพชิต (นักบวช) ไม่ควรประพฤติใน 2 สิ่งคือ 1. กามสุขัลลิกานุโยค   ลัทธิถือการประกอบตนให้หมกมุ่นอยู่ในกามสุข    2. อัตตกิลมถานุโยค   ลัทธิถือการทรมานตนให้ได้รับความลำบาก  เป็นลัทธิก่อให้เกิดความทุกข์   มิใช่ของพระอริยะ  ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ควรดำเนินทางสายกลาง   เรียกว่า  “มัชฌิมาปฏิปทา”

  มัชฌิมาปฏิปทา  ได้แก่  “อริยมรรค”  มีองค์ประกอบ ๘ ประการ คือ
  1.  สัมมาทิฏฐิ     ความเห็นชอบหรือปัญญาเห็นชอบ คือ การเห็นอริยสัจ 4 ตามสภาพความเป็นจริงว่าอะไรคือทุกข์  อะไรทำให้เกิดทุกข์ รู้การดับทุกข์ และรู้แนวทางที่จะดับทุกข์
  2.  สัมมาสังกัปปะ   ความดำริชอบหรือความคิดชอบ คือ ความนึกคิดที่จะทำตนให้ออกห่างจากสิ่งยั่วยวนต่างๆ  รวมทั้งการไม่คิดพยาบาทอาฆาตผู้อื่น มีจิตใจที่เมตตาต่อผู้อื่น    
  3.  สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือการงดเว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียดยุยง หรือพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ให้พูดแต่สิ่งที่ดี มีประโยชน์ต่อผู้อื่น
  4.  สัมมากัมมันตะ การประพฤติชอบ  คือ การมีศีล อันได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติในกาม  ไม่ทำความเดือนร้อนให้ผู้อื่น เป็นต้น
  5.  สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สำหรับบรรพชิต(นักบวช) คือ ดำรงชีพด้วยการบิณฑบาต งดการแสวงหาในสิ่งที่ไม่สมควร  ส่วนฆราวาส  คือ  การประกอบอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมาย   และศีลธรรม
  6.  สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือ การเพียรไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น หรือเพียรละความชั่วที่มีอยู่ให้น้อยลง เพียรให้ความดีเกิดขึ้น และเพียรให้ความดีที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ตลอดไป
  7.  สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ การฝึกด้านสมาธิ  หรือการทำใจให้เป็นสมาธิ  ให้มีสติรู้ตัวตลอดเวลา
  8.  สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ คือ การอบรมจิตให้สงบ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เป็นการฝึกจิตขั้นสูงขึ้นไป

  อริยสัจ 4 ประการ คือ
  1. ทุกข์       ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความเกิด ความแก่ และความตาย เป็นต้น
  2. สมุทัย   เหตุให้เกิดทุกข์ คือ ความอยากต่างๆ
  3. นิโรธ ความดับทุกข์
  4. มรรค   เหตุให้ถึงความดับทุกข์

  เมื่อจบพระธรรมเทศนา  ท่านโกณฑัญญะ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม (เห็นตามเป็นจริง ) ว่า  “ยัง  กิญจิ  สมุทะยะธัมมัง  สัพพันตัง  นิโรธะธัมมันติ”   สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา    พระพุทธเจ้า ครั้นทรงทราบว่า โกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรมสำเร็จเป็นโสดาบันแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานว่า  “อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วะตะโภ โกณฑัญโญ”  แปลว่า  โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ  อันเป็นเหตุ ให้ท่านโกณฑัญญะได้นามว่า   อัญญาโกณฑัญญะ  มานับแต่นั้น


ความสำคัญและสภาพสารนาถในสมัยพุทธกาล

  สารนาถในสมัยพุทธกาล  เรียกกันว่า  ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  แปลว่า  เขตป่าอภัยทานแก่สัตว์ที่เป็นที่บำเพ็ญตบะของฤษี  เป็นสถานที่สงบและเป็นที่ชุมนุมของเหล่าฤษีและนักพรตต่าง ๆ ที่มาบำเพ็ญตบะและโยคะเพื่อเข้าถึงพรหมมันตามความเชื่อในคัมภีร์อุปนิษัทของพรามหณ์  ทำให้เหล่าปัจจวัคคีย์ที่ปลีกตัวมาจากเจ้าชายสิทธัตถะ  ภายหลังจากที่พระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกริยา ได้มาบำเพ็ญตบะที่นี่แทน
  หลังจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา และเทศน์โปรดปัญวัคคีย์จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดแล้ว   ได้ทรงพักจำพรรษาแรก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน   พร้อมกับเหล่าปัญจวัคคีย์  ซึ่งในระหว่างจำพรรษาแรก พระองค์ได้สาวกเพิ่มกว่า 45 องค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระยสะ  และบริวารของท่าน 44 องค์ ซึ่งรวมถึงบิดามารดาและภรรยาของพระยสะ  ที่ได้มาฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์และได้ยอมรับนับถือเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะคู่แรกในโลกด้วย  ทำให้ในพรรษาแรกที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  มีพระอรหันต์ในโลกรวม 60 องค์  และองค์พระพุทธเจ้า
  นอกจากนี้ ในบริเวณสารนาถ ยังเป็นสถานที่สำคัญที่พระพุทธองค์ทรงประกาศเริ่มต้นส่งให้พระสาวกกลุ่มแรกออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาหลังจากทรงจำพรรษาแรกแล้ว  (เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เดียวกับที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา คือธรรมเมกขสถูป)  ดังปรากฏความตอนนี้ใน  สังยุตตนิกาย สคาถวรรค  ว่า
  “...ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  เธอทั้งหลายอย่าได้ไปด้วยกัน 2 รูป   โดยทางเดียวกัน   ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เธอทั้งหลายจงแสดงธรรม  งามในเบื้องต้น   งามในท่ามกลาง   งามในที่สุด   จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง...”
   สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยปาสสูตรที่ ๕.

  และด้วยเหตุทั้งหลายดังกล่าวมานี้ สารนาถจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งแรกมาตั้งแต่นั้น    ซึ่งในช่วงหลังจากพระพุทธองค์เสด็จออกจากสารนาถหลังประกาศส่งพระสาวกออกเผยแพร่ศาสนานั้น ไม่ปรากฏในหลักฐานในพระไตรปิฎกว่ามีการสร้างอารามหรือสิ่งก่อสร้างในป่าสารนาถแห่งนี้ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าสิ่งก่อสร้างใหญ่โตคงจะได้มาเริ่มสร้างขึ้นกันในช่วงหลังที่พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองมั่นคงในแคว้นมคธแล้ว


สถานที่สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับวันอาสาฬหบูชา





ธรรมเมกขสถูป 
สถานที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงจุดที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์






เจาคันธีสถูป 
สถานที่ ๆ พระพุทธเจ้าพบปัญจวัคคีย์






กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา

  วันอาสาฬหบูชา  พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า  และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น
  โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันอาสาฬหบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน)  โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันอาสาฬหบูชาก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้
  1. บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)
  2. บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ ๓ จบ)
  3. บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อิติปิโส ฯลฯ)
  4. บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:  องค์ใด        พระสัมพุทธ ฯลฯ)
  5. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สวากขาโต ฯลฯ)
  6. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:  ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)
  7. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สุปฏิปันโน ฯลฯ)
  8. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
  9. บทสวดพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรบาลี (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:เอวัมเม สุตัง เอกัง ฯลฯ) (ฟัง)
  10. บทสวดบูชาเนื่องในวันอาสาฬหบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:ยะมัมหะ โข มะยัง ฯลฯ)

  จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ  ด้วยการสวดบท   อิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ  ด้วยการสวดสวากขาโต  (รอบที่สอง)    และระลึกถึงพระสังฆคุณ  ด้วยการสวด        สุปะฏิปันโน (รอบที่สาม)   จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ    จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น